นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวพญานาคในแถบลุ่มน้ำโขงอาจ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์ โครงการวาดบ้านแปลงเมืองเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนวิถีชุมชนมีชีวิตของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีอัตตลักษณ์ที่สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง
นายสุทธิพงษ์ สุริยะ (คุณขาบ) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต และนวัตกรชุมชนฯ กล่าวว่า โครงการวาดบ้านแปลงเมืองคือ การนำศิลปะร่วมสมัยมารับใช้ชุมชน จุดเด่นของโครงการ คือการนำศิลปะมาเป็นจุดดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ซึ่งมีจำนวน 45 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และมีอาชีพเสริมที่แตกต่างกันไปเช่น ทำลูกประคบ จักสานต้นคล้า ปลาร้ากระป๋อง ยาหม่องสมุนไพร ฯลฯ โดยดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ความท้าทายในปีนี้จึงอยู่ที่การเปิดบ้านให้สว่างและต้องสว่างแบบว้าว เพื่อดึงดูดคนเมืองให้เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
โดยปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำนักศึกษาด้านศิลปะมาวาดภาพพญานาคเพิ่มเติมให้กับบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญๆภายในชุมชน ปัจจุบันมีภาพพญานาคที่แสดงออกถึงอัตตลักษณ์ของชุมชน จำนวน 52 ตน โดยตั้งเป้าไว้ว่าปลายปีนี้ในช่วงเทศกาลบั้งไฟพญานาคบ้านขี้เหล็กใหญ่จะมีภาพพญานาคที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนให้ครบ 100 ตนเพราะพญานาค คือความศรัทธาของคนที่นี่ เราไปกราบไหว้พญานาค เพื่อขอพร ขอโชค ขอลาภ เช่นเดียวกับการนำภาพพญานาคมาไว้ตามบ้านเรือนในชุมชน พญานาคก็จะบ่งบอกถึงอาชีพและนำมาซึ่งรายได้ให้กับคนในชุมชนนั้นๆด้วย หัวใจของการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนประกอบด้วย ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกชุมชน และคนในชุมชนต้องรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ยกตัวอย่างการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ คือการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม คือบ้านของเราเอง มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เมื่อทุกคนพร้อมใจกันเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างมีศิลปะและเอาดีไซน์เข้าไปจับ เปิดให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสทุกแง่มุมความจริงในวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้ทุกวัน ของที่จำหน่ายในบ้านคือสิ่งที่ได้จากอาชีพหลักและอาชีพเสริม ซึ่งเป็นรายได้ที่นำความยั่งยืนมาสู่ทุกคน
นางสาว น้ำฝน สิทธิสร ชั้นปีที่ 3 คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า เพื่อนๆในสาขาสถาปัตยกรรม มาร่วมวาดภาพ 24 คน รับผิดชอบคนละ 3 ภาพ คอนเส็ปต์รวมที่ได้รับมอบหมายคือ การวาดภาพพญานาคกับดอกไม้ ภาพนี้เราเลือกดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 เราทุกคนดีใจที่ได้นำความสามารถมาทำประโยชน์ให้กับชุมชน เพราะเชื่อว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกันมาตามกระแสนิยม เมื่อภาพและเรื่องเล่าของที่นี่ถูกเผยแพร่ออกไป นักท่องเที่ยวและรายได้ก็จะไหลเวียนมาสู่ชุมชนในไม่ช้า
นางสาว เจตนิพิฐ เกิดแสง ชั้นปีที่ 3 คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่ารู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานที่ได้ออกทริปต่างจังหวัด ทำให้คนสามารถเข้าถึงพญานาค ซึ่งมีอยู่ในตำนานความเชื่อได้มากขึ้น
นางสาวปัญฑารีย์ กงแก้ว ชั้นปีที่ 3 คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ประทับใจในการต้อนรับของชาวบ้าน และภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์และได้ฝึกฝนทักษะการวาดภาพสีน้ำมันในสถานที่จริง รู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ที่พิพิธภัณฑ์เป็นแกนนำในการวาดภาพให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงคติธรรมในทางศาสนาเข้ากับวิถีชีวิต ยังช่วยส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
อีกไม่นาน ภาพวาดพญานาคร่วมสมัยนับร้อยตน ในอิริยาบถต่างๆ ที่อยู่ตามบ้านเรือนชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย จะกลายเป็นสัญลักษณ์แทนการจุดบั้งไฟบวงสรวงแด่องค์พญานาค เพื่อนำพาชุมชนไปสู่วิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำความยั่งยืนมาสู่ชุมชนในที่สุด