ดร.ลดาฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ มีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศไทย แม้พบปัญหาอุปสรรคทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี แต่อาจเปลี่ยนเป็นโอกาสได้หากผู้ประกอบการรู้ทันและสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กรมวิทยาศาสตร์บริการมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สินค้าอาหารและเกษตรที่ส่งออกมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้เน้นให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสารสนเทศดิจิทัลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎระเบียบ มาตรฐาน มาตรการกีดกันทางการค้าของการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสำนักหอสมุดฯได้แนะนำเทคนิควิธีการสืบค้นข้อมูลและแนะนำสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรม มีการรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสามารถเพิ่มมูลค่า รวมทั้งมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้อ้างอิงได้
ช่วงบ่ายวันนี้ยังมีการเสวนา เรื่อง"วิจัย นวัตกรรม และสารสนเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้านอาหาร" เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคและอาหารยุคใหม่ การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ตลอดจนการนำสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหาร โดยสมาชิกเครือข่ายศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.นฤมล รื่นไวย์ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลและสารสนเทศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และนายบุญเลิศ อรุณพิบูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ดร.จิราภรณ์ บุราคร รักษาการในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นวิทยากรเสวนาครั้งนี้ด้วย ในงานยังมีนิทรรศการแสดงบริการสารสนเทศ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ การทดสอบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงผลงานวิจัยนวัตกรรม