นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าราคาข้าวเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ เกิดจากปริมาณข้าวเหนียวในตลาดมีน้อยมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคนั้นมีมาก ทั้งนี้ราคาข้าวเปลือกเหนียวเริ่มปรับตัวลง ชาวนาขายได้เฉลี่ยตันละ 10,188 บาท และปรับตัวลงอีกในปี 2561 เฉลี่ยตันละ 9,549 บาท จากภาวะราคาข้าวเหนียวตกต่ำดังกล่าว ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน จึงทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวทั้งนารอบที่ 1 (นาปี) และนารอบที่ 2 (นาปรัง) ที่ผ่านมามีปริมาณน้อยกว่าทุกปี
ทั้งนี้เมื่อปริมาณผลผลิตในตลาดลดลง ราคาข้าวเปลือกเหนียวจึงปรับตัวสูงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นตันละ 10,268 บาทจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 9,697 บาทเป็นราคาตันละ 15,179 บาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.53 นอกจากนี้ราคาข้าวเหนียวยังปรับตัวสูงขึ้นมาก ในช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 62 เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล โดยข้าวเก่ามีปริมาณเหลือน้อย ส่วนข้าวใหม่ยังไม่ถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว อีกทั้งภาครัฐได้ระบายข้าวในสต็อกหมด ส่วนชาวนาในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเก็บที่เหลือไว้บริโภค ส่งผลราคาข้าวเหนียวในตลาดสูงขึ้น
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสีพยายามหาซื้อข้าวเหนียวเพื่อเก็บไว้ในสต็อกและแปรสภาพเป็นข้าวถุงเพื่อจำหน่าย เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในประเทศยังคงมีมาก สำหรับพื้นที่นาปรังข้าวเหนียวปี 2562 มี 1,006,199 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวม 595,963 ตัน ส่วนพื้นที่เป้าหมายปลูกข้าวเหนียว รอบที่ 1 (นาปี ปี 2562/63) 16.172 ล้านไร่ คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิต 6.142 ล้านตัน ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขึ้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวแล้วพื้นที่รวม 12,716,114 ไร่ แต่จากภาวะฝนทิ้งช่วงในปีนี้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเหนียวในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และจังหวัดเพชรบูรณ์ รวม 793,885 ไร่ ซึ่งชาวนาจะเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2562 ซึ่งคาดว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวจะลดลงจากเป้าหมายที่กำหนดไว้