ซีเอ็มเอ็มยู คว้ามาตรฐาน AACSB ครบทุกหลักสูตร เทียบสถาบันสอนบริหารธุรกิจระดับโลก พร้อมเน้นผลิตผู้นำองค์กรที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่อง

จันทร์ ๒๖ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๔:๕๒
- มหิดล รุกยกระดับคุณภาพทุกสาขาวิชา ครอบคลุม เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเป็น 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้มาตรฐานคุณภาพระดับโลก โดยซีเอ็มเอ็มยู เปิดสอนหลักสูตรด้านการจัดการในระดับ ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมหลักสูตรทั้งไทยและนานาชาติ รวมจำนวน 15 สาขาวิชา มีการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม และประเมินผลการพัฒนาคุณภาพ เพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของเอเชียและนานาชาติ ผ่านแนวทางการเรียนการสอนซึ่งเน้นกระบวนการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางธุรกิจ และการลงมือปฏิบัติจริง ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงโลกในยุคดิจิทัล พร้อมเปิดแนวคิดพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น 1 ใน 100 สถาบันที่ดีที่สุดของโลก ภายใน พ.ศ.2573 ที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการบริหารจัดการ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเดินหน้าพัฒนาและยกระดับหลักสูตร ตั้งเป้าการเป็น 1 ใน 100 สถาบันที่ดีที่สุดของโลก ภายใน พ.ศ.2573 โดยจะมุ่งพัฒนาความสามารถและศักยภาพของนักศึกษา เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสู่สังคม โดยคำนึงถึงการสร้างโอกาสความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งยกระดับผลงานวิจัยของประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติ ผ่านการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและสถาบันวิจัยทั่วโลก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดสอนในหลากหลายหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ตลอดจน ด้านการบริหารจัดการ วิทยาลัยการจัดการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในภาพรวม

ทั้งนี้ ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะเร่งยกระดับสถาบันการศึกษาด้วยแนวคิด "Culture of Excellence" หรือวัฒนธรรมสู่ความเป็นเลิศ ตั้งแต่การพัฒนาคณาจารย์ บรรยากาศการเรียนการสอน นักศึกษา หลักสูตรต่างๆให้มีประสิทธิภาพและทันต่อการแข่งขันกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในการพัฒนานักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยจะเน้นการบ่มเพาะให้บุคลากรมีลักษณะของความเป็น Adaptive และ Multi – skills เพิ่มมากขึ้น คือจะต้องเป็นผู้รู้จักประยุกต์ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆให้เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ภาษา การคิดเชิงดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งหากนักศึกษามีคุณสมบัติในด้านดังกล่าวแล้วก็จะยิ่งช่วยให้เกิดข้อได้เปรียบในการทำงาน และเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าและก้าวสู่ความเป็นผู้นำเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในอนาคต

ด้าน ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนานาชาติของ AACSB ในทุกหลักสูตรเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ AACSB เป็นองค์กรที่ให้มาตรฐานคุณภาพระดับโลกกับสถาบันที่สอนด้านธุรกิจ โดยก่อตั้งมามากกว่า 100 ปี ในการพิจารณารับรองมาตรฐานนั้น AACSB เน้นความเป็นเลิศของสถาบันที่ขอรับการประเมิน ในด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การทำวิจัย โดยพิจารณาจากความชัดเจนของพันธกิจ เป้าหมาย การปฏิบัติตามพันธกิจด้วยทรัพยากรที่เพียงพอและมีความมุ่งมั่น การมีนวัตกรรม และการสร้างผลกระทบที่สำคัญ AACSB มีกระบวนการประเมินสถาบันอย่างเข้มข้นด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก จากตัวเลขจำนวนสถาบันที่สอนด้านธุรกิจและการจัดการกว่า 17,000 แห่งทั่วโลก มีเพียง 5% ของจำนวนเหล่านี้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB ดังนั้น CMMU จึงมีความภาคภูมิใจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลในครั้งนี้ และจะทำการพัฒนาคุณภาพของวิทยาลัยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการผลิตผู้นำทุกระดับขององค์กรที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ดวงพร กล่าวเพิ่มถึง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า ก่อตั้งมาเข้าสู่ปีที่ 23 มีศิษย์เก่าร่วม 10,000 คน เปิดสอนหลักสูตรไทยและนานาชาติที่ครอบคลุมสาขาการจัดการด้านต่างๆ อาทิ การจัดการด้าน การตลาด การเงิน ทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์ และยังมีการจัดการภาวะผู้ประกอบการ การจัดการธุรกิจอาหาร การจัดการธุรกิจเพื่อสุขภาพ เป็นต้น โดยมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพระดับสากล ผ่านแนวทางการเรียนการสอนแบบ เน้นกระบวนการวิเคราะห์กรณีศึกษาที่มีประเด็นปัญหาในทางธุรกิจและนำเสนอแนวทางแก้ไขพัฒนา หรือ Problem-based approach และเน้นการนำเอาข้อมูลผลจากการวิจัยในภาคธุรกิจ มาเป็นฐานการเรียนการสอน หรือ Practical learning เพื่อให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากทฤษฎี และลงมือปฏิบัติได้อย่างชำนาญ วิทยาลัยฯ เน้นให้นักศึกษาได้มีการทำกิจกรรม การทำงานเป็นทีม การทำงานแบบสร้างสรรค์ หลักสูตรของวิทยาลัยได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดรับการเปลี่ยนแปลงโลกในยุคดิจิทัลโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

นอกจากเปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิตทั้งไทยและนานาชาติรวม 2 หลักสูตรแล้ว วิทยาลัยการจัดการฯ ยังเปิดสอนหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) อีก 2 หลักสูตรเพื่อมุ่งผลิตนักวิจัยคุณภาพ คือ หลักสูตรการจัดการ และหลักสูตรภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน งานวิจัยของวิทยาลัยฯ มีผลงานคุณภาพออกมาต่อเนื่อง โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารคุณภาพระดับสากล อนึ่ง วิทยาลัยยังมีการให้บริการวิชาการ โดยจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมและชื่นชมจากผู้เข้าร่วมอบรม ทั้งนี้ วิทยาลัยมุ่งให้การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต (life-long learning) กับบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ดร.ดวงพร กล่าวสรุป

สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่บนต้นถนนวิภาวดีรังสิต เลขที่ 69 โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ