เมียนมา อินไซต์ 2019 ติวเข้มนักธุรกิจไทย เจาะลึกทุกมิติการลงทุน พิชิตตลาดเมียนมา

จันทร์ ๒๖ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๕:๕๙
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา จัดสัมมนาการลงทุน "เมียนมา อินไซต์ 2019" (Myanmar Insight 2019) ครั้งที่ 4 เพื่อเตรียมพร้อม และติวเข้มผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับเมียนมา โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาร่วมเปิดมุมมองและให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ธุรกิจดาวรุ่ง รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ แบบเจาะลึกทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่า งานสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าและการลงทุน ในเมียนมา รวมทั้งพบปะผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนอัพเดทเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้แก่กลุ่ม นักธุรกิจไทยหรือผู้สนใจลงทุนในเมียนมา อาทิ โอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเมียนมา การพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา อุตสาหกรรมดาวรุ่ง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์ และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตลาดการค้า การลงทุนให้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระดับชาติ

การจัดสัมมนาในปีนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา พร้อมฟังปาฐกถาพิเศษ "โอกาสด้านการลงทุนในเมียนมา ของนักลงทุนไทย" Investment Opportunities in Myanmar for Thai Investors) จาก นายตอง ทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน และความสัมพันธ์เศรษฐกิจต่างประเทศเมียนมา ต่อด้วยการเสวนาพิเศษ "การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม"(Doing Business for Responsibility)จาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย

โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา (Myanmar Sustainable Development Plan) และโครงการพัฒนาประเทศ Project Bank ของเมียนมา, โอกาสการลงทุนด้านไฟฟ้าและพลังงาน, อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งเป็นอีกภาคธุรกิจ ที่น่าสนใจลงทุน สุดท้ายโอกาสและลู่ทางการขยายฐานการผลิตมายังประเทศเมียนมา

สำหรับการจัดอันดับของธนาคารโลก ด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจหรือ Doing Business 2019 ในด้านหลัก คือ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน,การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย,การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา โดยเมียนมาอยู่ในลำดับที่ 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเมียนมามีเป้าหมายขึ้นสู่อันดับที่ 100 ภายในปี 2563-2564 และสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2578-2579

ด้านการลงทุนทางตรงของต่างประเทศในเมียนมา (FDI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2018-2019 ของเมียนมา(ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา(Myanmar Investment Commission : MIC) อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่า 2,499.413 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสิงคโปร์ มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 มูลค่า 1,600.053 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ จีน และฮ่องกง ขณะที่ไทยมีการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 4 มูลค่าการลงทุน 118.634 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเมียนมามากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2018-2019 (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) อันดับที่ 1 คือ การคมนาคมและการสื่อสาร อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมการผลิต อันดับที่ 3 ภาคพลังงาน อันดับที่ 4 โรงแรมและการท่องเที่ยว และอันดับที่ 5 อสังหาริมทรัพย์

ด้านนายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล นายกสมาคมธุรกิจไทยในพม่า (TBAM) กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางสถานเอกอัครราชทูตไทย และจากธนาคารและบริษัทไทยรายใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในเมียนมา ในการจัดสัมมนาธุรกิจ"เมียนมา อินไซต์" ปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเป็นเวทีให้นักธุรกิจไทยได้รับทราบนโยบายด้านเศรษฐกิจของเมียนมา โอกาสการค้าการลงทุน รวมทั้งประสบการณ์ของนักธุรกิจเมียนมาและนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมามีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงานกว่า 600 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทางสมาคม TBAM พร้อมที่จะสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเมียนมา

สำหรับมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมา ช่วงมกราคม – พฤษภาคม 2562 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,188.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.43 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยประเทศไทยมีการส่งออกไปยังเมียนมาคิดเป็นมูลค่า 1,888.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากเมียนมาเป็นมูลค่า 1,300.37 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าไทยที่ส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล รถยนต์ ข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนสินค้าไทยที่นำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ผลิตภัณฑ์จากพืชผัก ผลไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมียนมามีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนอย่างยิ่ง เนื่องจากมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองตลาดใหญ่สำคัญของจีนและอินเดีย และมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ไทยและเมียนมาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partner) โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับเมียนมาเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม