นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกลุ่มคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน หรือ คปน. นั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเข้าใจในความห่วงใยต่อการดำเนินการโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล นั้น ได้อยู่ภายใต้กฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน จึงได้มีการจัดทำ EIA หรือการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น หรือในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นจากการพัฒนาโครงการ
นอกจากนี้ การลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลนั้น ผู้ประกอบการจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน เกษตรกรชาวไร่ในด้านการเพาะปลูกอ้อย โดยจะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ การคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยอย่างเพียงพอและคุ้มค่าต่อการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรชาวไร่สามารถยึดอาชีพการเพาะปลูกอ้อยในการหาเลี้ยงครอบครัวได้ พร้อมกันนี้ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายนั้น โรงงานน้ำตาล จึงลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยใช้กากอ้อย ซึ่งเป็นของเสียจากการผลิตน้ำตาลมาใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก้าวสู่การเป็น Zero Waste ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศชาติโดยรวม
"เราขอบคุณและเข้าใจในความห่วงใยของคณะกรรมการ คปน. ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลพร้อมทำความเข้าใจให้แก่ประชาชน และร่วมกับคณะกรรมการ คปน. ในการหาทางออกร่วมกัน ที่จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชน เกษตรกรชาวไร่ จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยที่สามารถยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น และประเทศชาติก็มีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น จากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ"
นายสิริวุทธิ์ กล่าว