รางวัลวรรณกรรม ยึดผลงานหรือสายตากรรมการ...เมื่อต้องอยู่ในหลักเกณฑ์และแตะหัวใจคนอ่าน

พุธ ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๑๓:๑๗
เปิดเวทีรางวัลชมนาด ส่งเสริมและพัฒนางานเขียนสตรีไทย กับเสวนาประเด็นที่กำลังกับประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในวงการวรรณกรรมอย่าง "รางวัลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับผลงานหรือกรรมการ" ณ งานประกาศผลตัดสินรางวัลชมนาดครั้งที่ 8 (FICTION-NOVEL) วันจันทร์ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2562 ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม โดยในปีนี้ ไม่มีผลงานวรรณกรรมใดที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ซึ่งทางบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานเตรียมนำเงินรางวัลไปใช้เพื่อพัฒนาวงการนักเขียนหญิงไทย

@ปัญหาที่งานเขียนหรือสายตากรรมการ?

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนรางวัลซีไรต์และกรรมการตัดสินรางวัลกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทั้งสองอย่าง เพราะผลงานเป็นเสรีภาพในการจินตนาการ พอเข้ามาก็ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ โดยเกณฑ์ในการวินิจฉัยถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เนื้อเรื่อง และศิลปะการนำเสนอหรือรูปแบบในการประพันธ์ ผลงานที่ส่งเข้ามาในปีนี้มีเนื้อเรื่องดีทุกเรื่อง แต่เมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนประกอบกันกันแล้ว เนื้อหาดีแต่ใช้รูปแบบในการนำเสนอที่มีข้อด้อย ข้อเด่นต่างกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงยังไม่มีผลงานที่ถึงมาตรฐานของรางวัลที่เราอยากจะให้เป็น

ด้านกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวทีของเรามีจุดประสงค์หลักคือการเปิดโอกาสให้นักเขียนหญิง ส่งเสริมเผยแพร่ผลงานของหญิงไทยออกสู่สากล และสนับสนุนให้คนไทยรักการอ่าน โดยคณะกรรมการและนักเขียนต้องเคารพวัตถุประสงค์เหล่านี้ แม้ว่าเราอยากจะให้ทุกท่านได้รางวัล แต่ท้ายที่สุดต้องดูกันที่พล็อตเรื่อง มีแก่นแกนอย่างไร จะนำผู้อ่านไปได้อย่างไร เมื่อมีเนื้อหาชัดเจน ต้องกลับมาดูว่าผู้เขียนตอบโจทย์ให้คนอ่านรู้สึกถึงหรือไม่ โดยจะต้องแตะหัวใจ อารมณ์โดนใจคนอ่านด้วย บางเรื่องแตะหัวใจแต่วรรณศิลป์ไม่มี ต้องพิจารณาทั้งรูปแบบเนื้อหาและกลวิธีนำเสนองดงามเสมอกัน สำหรับปีนี้ ผลงานส่วนใหญ่ยังขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องตัดสินโดยยึดหลักการและมาตรฐานเป็นหลัก

"วรรณกรรมจะต้องมีทั้งเรื่องและทั้งรส การถ่ายทอดอารมณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับเทคนิค อีกทั้งจังหวะการตัดต่อก็สำคัญ ฉากไหนจะจบเร็วหรือเชื่อมกันอย่างไร แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้มุมมองของผู้เล่าก็สำคัญด้วย ซึ่งแต่ละมุมมองจะแตกต่างกัน และนำไปสู่การพัฒนาจุดประสงค์ของนักเขียนที่จะสื่อออกไปหาคนอ่านถูกหรือไม่ โจทย์ของชมนาดจึงมีความพิเศษในหลายด้าน"

ขณะที่ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน และอดีตนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้ กรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ แสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน เรามองว่าในฐานะครูภาษาไทย นอกจากรูปแบบเนื้อหาและวรรณศิลป์ สิ่งสำคัญคือการใช้ภาษา มีการเว้นวรรคและสะกดผิด การใช้ภาษาไม่ตรงกับบริบทของเรื่อง จึงคิดว่าหากมีการแปลในอนาคตอาจทำให้สับสน บางเรื่องรู้สึกว่าเคยอ่านมาแล้ว ก็เกิดความไม่แน่ใจว่าอาจจะไปใกล้เคียงกับผลงานของคนอื่นหรือไม่ หรืออาจเป็นแค่การได้รับแรงบันดาลใจมา

"การใช้ภาษาสำคัญมาก คนรุ่นหลังต้องได้รู้ว่าวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลนั้นหมายถึงการได้รับการขัดเกลาภาษามาแล้ว และความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญมากในวรรณกรรมยุคดิจิทัล เล่มไหนได้รับรางวัลเราก็หวังว่าจะมีคนอ่านไปอีกหลายปี รวมถึงการได้เป็นวรรณกรรมตัวอย่างด้วย"

ทั้งนี้ ฝากถึงการพัฒนาการเขียนของเยาวชนไทยว่า เริ่มแรกคือการอ่าน เป็นอ่านเพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และจะต้องอ่านเยอะกว่าปกติและต้องอ่านให้หลากหลาย

ด้านนรีภพ จิระโพธิรัตน์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทยและประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด กล่าวว่า เราเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวังและไม่มีใครพลาดหวังทุกครั้งไป" เป็นประโยคให้กำลังใจที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้คนแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ดังนั้นผลงานที่ดีต้องคู่ไปกับกรรมการ สำนักพิมพ์และคนอ่าน เปรียบเสมือนจุดตะเกียงหนึ่งดวงเพื่อเผยแพร่ไปอีกหลายดวง เหมือนรางวัลชมนาดที่ต้องออกไปสู่สากล

จะพัฒนางานเขียนของสตรีไทยอย่างไรได้บ้าง ?

เนาวรัตน์ ระบุว่า จากการตั้งข้อสังเกตเห็นว่านักเขียนหญิงมีความคิดที่ละเอียดแต่ขาดส่วนกว้าง ในขณะที่นักเขียนชายจะมีความคิดที่กว้างกว่า ยึดโครงสร้างแต่ขาดความละเอียด อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับบุคคล ซึ่งในสมัยใหม่งานวรรณกรรมต้องการทั้งสองแบบ ต้องเติมเต็มกันและกัน

"งานวรรณกรรมเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะทำให้ความเป็นไทยออกสู่สากลได้ แต่ยังมีอุปสรรคทางภาษา เช่นการแปล อย่างการแปลร้อยแก้วอาจจะง่าย แต่การแปลร้อยกรองนั้นหากแปลผิดก็จะทำให้โลกมองเราผิด ผมจึงอยากให้มีสถาบันภาษาและวรรณกรรมแห่งชาติขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่การเอาความหวังไปฝากไว้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version