รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2559 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ได้มีการ MOU ร่วมกับ Singapore Polytechnic จากประเทศสิงคโปร์และ มทร. อีก 8 แห่ง เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระบบ CDIO ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโดยเฉพาะ และพัฒนาขึ้นโดยเริ่มต้นที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาสาขาอื่นๆ อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยแนวการเรียนการสอนแบบ CDIO มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) 4 ด้านหลัก ได้แก่ Conceive ความสามารถทำความเข้าใจผู้ใช้ ผู้ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม คิดวิเคราะห์ และชี้ปัญหาได้ Design คือความสามารถในการออกแบบ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ได้ Implement คือความสามารถดำเนินการ ประยุกต์ หรือลงมือแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างสัมฤทธ์ผล Operate คือความสามารถพัฒนาและควบคุมระบบต่างๆ ให้ดำเนินงานต่อไปได้อย่างเหมาะสม มทร.อีสาน จึงได้ส่งบุคลากรไปอบรมการเป็นครูผู้ฝึกสอน (master trainer) ณ ประเทศสิงคโปร์
ในปี พ.ศ.2560 จึงได้เข้าร่วมงาน CDIO Forum ณ ประเทศสิงคโปร์อีกครั้งจึงได้เห็นการนำเสนองานของนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา เราพบว่านักศึกษาเหล่านั้นสามารถนำเสนองานอย่างมีความสุข มีแววตาเป็นประกาย มีความมั่นใจและมีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ นั่นคือ ในสถานศึกษาเขาใช้ระบบ CDIO ไปใช้ จึงทำให้นักศึกษามีความกล้าในการนำเสนอผลงาน และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เราจึงหยิบยกกระบวนการเหล่านี้มาปรับใช้การเรียนการสอน ณ มทร.อีสาน
รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า CDIO เป็นระบบการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมี 12 มาตรฐาน โดย Fabrication Lab คือหนึ่งในนั้น เรียกสั้นๆ ว่า Fab Lab คือ ห้องแลปที่ใช้ในการสร้างสิ่งที่เกิดจากไอเดีย สู่ชิ้นงานหรือเป็นผลิตภัณฑ์ (product) สำเร็จหรือต้นแบบขึ้นมา ซึ่งจะช่วยในการมองเห็นภาพจริงของนักศึกษา และเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาสามารถถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นชิ้นงานได้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างนักศึกษาให้เป็นนักนวัตกรรม (innovator) ในอนาคตได้ และในอนาคต Fab Lab จะเป็นส่วนหนึ่งของการสอนรายวิชา introduction to engineer คือ วิชาที่จะนำไปสู่การเป็นวิศวกรที่สมบูรณ์ โดยวิชา introduction to engineer เป็นหนึ่งในมาตรฐานของ CDIO และห้องเรียนแห่งนี้เราตั้งใจออกแบบ (create) มีความทันสมัย (modern) ให้เหมาะกับการสร้างจินตนาการ มีเครื่องมือทันสมัย สามารถติตต่อสื่อสารผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันยังใส่ความเป็นศิลปะ (art) แต่ยังมีสีสันของความเป็นวิศวะอยู่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะผนวกรวมให้ผู้เรียนต้องการเข้ามาใช้ เป็นการสร้างจินตนาการให้เขาได้ นอกจากห้องเรียนแล้ว เรายังมีพื้นที่ว่างให้ผู้เรียนสามารถเข้ามาใช้ทดสอบนวัตกรรม แบบจำลองต่างๆ ได้ ซึ่งห้อง Fab Lab นี้จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้เรียนมีความคิดความอ่านที่อิสระเสรี รู้จักนำจินตนาการมาสร้างเป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้จริง และสามารถวิเคราะห์ทางวิศวกรรมว่าการใช้งานในอุตสาหกรรมจริงจะเป็นอย่างไร เราพยายามเชื่อมโยงให้เขาเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ในอนาคตถ้า Fab Lab เข้าสู่การเชื่อมโยงกับหลักสูตรได้ ในราวปี พ.ศ.2566 เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กวิศวะ ที่เกิดขึ้นใหม่ เขาจะไม่ใช่วิศวกรที่ทำงานอย่างเดียว เขาจะมีความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาได้ นี่คือในอนาคตที่จะเกิดเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องมีคือ innovator มีความเป็นนักสร้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งรับรองว่าคณาจารย์ของเรามีทักษะปฏิบัติสูง เรามีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนสอนใหม่ แต่เดิมอาจเป็นการสอนแบบ Lecture base แต่มาตรฐาน CDIO ต้องสอนแบบ active learning อาจารย์เราจึงต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเด็กยุคใหม่ เพื่อให้อาจารย์สามารถสอนให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าแลกเปลี่ยนข้อมูล มีความคิดเชิงวิพากษ์ มีการทำงานเป็นกลุ่มและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตามห้องปฏิบัติการต้นแบบ Fabrication Lab เป็นการเริ่มต้นในการเปลี่ยนรูปแบบการจัดเรียนการสอนของ มทร.อีสาน ที่จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งเดิมสถานประกอบการมักบอกว่าเราผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ แต่สื่อสารไม่ดี ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เราคาดว่าระบบนี้จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่ตอบสนองความต้อการของเด็กและสถานประกอบการในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดครับ รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย