การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เนื่องจากการตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ตามที่ประเทศไทยได้มีการผลักดันการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วให้สามารถนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารได้เหมือนในหลายประเทศ แต่ยังมีข้อจำกัดในแง่กฎหมายและเทคนิคบางประการที่ยังต้องหาแนวทางร่วมกัน โดยการประชุมหารือเรื่องการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานด้านการวิจัยและทดสอบที่เกี่ยวข้องกับวัสดุสัมผัสอาหารและพลาสติกรีไซเคิล เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยด้านนวัตกรรม และยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญด้านให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบด้านความปลอดภัยของอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร อีกทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร (ASEAN Reference laboratory for Food Contact Materials, AFRL for FCM) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้านการวิเคราะห์ ทดสอบความปลอดภัยอาหารและวัสดุสัมผัสอาหารของประเทศ ให้ทันสมัย รวมทั้งพัฒนางานวิจัยด้านวัสดุสัมผัสอาหาร สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการผลิตอาหารและวัสดุสัมผัสอาหารของไทย และนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งห้องปฏิบัติการของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นได้ต่อไป