ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขชุมชนมวลรวมของชาวน่าน ยุคบิ๊กตู่ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในจังหวัด น่าน จำนวนทั้งสิ้น 1,752 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 มีความสุขจากการปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือ ร้อยละ 89.9 สุขจากวัฒนธรรมประเพณีของชาวน่าน ร้อยละ 86.8 สุขจากการกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ร้อยละ 73.7 สุขจากการป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติ ร้อยละ 72.8 สุขจากความปลอดภัยจากการทำงาน ร้อยละ 70.2 สุขจากการเป็นคนขยันทำงานมากกว่าคนอื่น ร้อยละ 69.3 สุขจากที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยให้ประชาชนมีที่ทำกิน ร้อยละ 67.8 สุขจากอาหารที่รับประทานประจำวัน ร้อยละ 67.2 สุขจากการร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 67.1 สุขจากความสามารถออกกำลังกาย ยกของหนักได้
นอกจากนี้ ร้อยละ 61.9 สุขจากความพอใจในรูปร่างหน้าตาของชาวน่าน ร้อยละ 58.9 สุขจากความมั่นคงในอาชีพการงาน ร้อยละ 58.5 สุขจากความหลากหลายทางธรรมชาติใกล้ชุมชน ร้อยละ 52.1 สุขจากความเท่าเทียมและเป็นธรรมจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ร้อยละ 48.8 สุขจากการเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ ป่า และร้อยละ 42.1 สุขจากการทำประโยชน์ส่วนรวม มีจิตอาสา ตามลำดับ
เมื่อทำการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) ด้วยค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขของชาวน่านสูงสุดได้แก่ ความสุขในครอบครัวอยู่ที่ 8.18 รองลงมาคือ ความสุขต่อสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.72 ความสุขต่ออาชีพการงานอยู่ที่ 7.65 ความสุขต่อวัฒนธรรมประเพณีอยู่ที่ 7.64 ความสุขในหมู่บ้านชุมชนอยู่ที่ 7.63 ความสุขต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 7.37 ความสุขต่อสุขภาพกายอยู่ที่ 7.34 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.15 ความสุขต่อรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ที่ 6.92 และความสุขต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ที่ 5.95 ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบความสุขชุมชนมวลรวมของ ชาวน่าน ระหว่างเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2561 กับ เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2562 พบว่าความสุขชุมชนมวลรวมของ ชาวน่าน เพิ่มขึ้นจาก 7.72 มาอยู่ที่ 8.02 ในการสำรวจครั้งนี้
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากการศึกษาเชิงลึกพบว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลมีนัยสำคัญต่อความสุขชุมชนมวลรวมของประชาชนชาวจังหวัดน่าน เช่น การมีกฎหมายให้ประชาชนอยู่กับป่าได้สำหรับประชาชนที่อยู่กับป่าก่อนเดือนพฤษภาคม ปี 2557 และแนวนโยบายที่ว่า ไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่ร่วมกับป่า ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสามารถผลิตไม้มีค่าเพื่อความมั่นคงในอาชีพการงานและฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวตามแนวทางที่ว่า รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน บนผืนดินเดียวกัน โดยเอาความสุขของประชาชนเป็นตัวตั้งที่เกิดขึ้นในนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามช่วงเวลาของการสำรวจวิจัยทั้งสองครั้งนี้