นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรมากกว่า 20 ล้านคน มีรายได้หมุนเวียนกว่า 15 ล้านล้านบาท แต่คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับถดถอยลง ธุรกิจทางการเกษตรไม่เป็นที่สนใจของสังคม ส่งผลให้ผู้ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรลดลง สอศ.จึงจัดโครงการ Smart Farming 47 Aggie by STI ผ่านการจัดกิจกรรม STI : Scicnce, Technology, Innovation โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม เช่น การบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี กับโครงการต้นแบบแก้มลิงพวงที่หมู่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์, การ ReSkill Upskill สร้างคน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ภายใต้หลักการใครๆ ก็เรียนได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง สามารถเรียนรู้การเกษตรที่ทันสมัย มีรายได้ตั้งแต่วันที่เริ่มเรียน มีความสุขตั้งแต่เริ่มลงมือทำ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับทราบถึงสภาพปัญหาของอาชีพเกษตรไทยในปัจจุบันที่มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดย ศธ.ได้พยายามวางแผนและสร้างโครงการที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรไทยให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการ Smart farming 47 Aggie by STI โดยมีแนวคิดการใช้วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) และนวัตกรรม (Innovation)
ขณะเดียวกันคำว่า STI ยังอ่านออกเสียงได้ว่า สติ ซึ่งหมายถึงการทำเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีสติ เพื่อสร้างทักษะที่มีอยู่ให้ขึ้นสูงขึ้น (UpSkill) รวมถึงเปลี่ยนทักษะที่เคยทำให้ทันสมัยยิ่ง (ReSkill) โดยเกษตรกร นักเรียน และผู้ที่สนใจการทำเกษตรยุคใหม่ จะได้รับความรู้ สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อการเกษตร เช่น การบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี การทำธนาคารน้ำใต้ดิน การเลี้ยงสัตว์ การจัดหลักสูตรทวิภาคี ไทย-อิสราเอล ARAVA เป็นต้น เพื่อเป็นการต่อยอดอาชีพได้อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จากผู้มีประสบการณ์ และผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนได้เรียนรู้จากครูมืออาชีพ
โครงการ Smart farming 47 Aggie by STI ยังช่วยยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั้ง 47 แห่งในประเทศไทย ให้มีการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ โดดเด่น มีองค์ความรู้ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และอีกหลากหลายสาขาวิชา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรรมไทยเป็นอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของคนไทย ตลอดจนให้สังคมเกษตรกรรมไทยก้าวไปสู่ยุคเกษตร 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน