สศก. ได้ศึกษารูปแบบและศักยภาพการบริหารจัดการโซ่ความเย็น (ColdChain)ของสถาบันเกษตรกรที่ทำธุรกิจรวบรวมผักและผลไม้ (เงาะ ทุเรียน มังคุด ขนุน ผักใบ และเห็ด) จำนวน 24 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวทางการพัฒนาโซ่ความเย็น ของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ โดยผลจากการศึกษา พบว่า
โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโซ่ความเย็นผักผลไม้ มีสถาบันเกษตรกรที่มีจุดรวบรวมสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน GMP จำนวน 11 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน GMP จำนวน 8 แห่งและไม่มีจุดรวบรวม จำนวน 5 แห่ง ทั้งนี้ มีสถาบันเกษตรกรที่มีห้องเย็น (ห้องแช่เย็นและแช่แข็ง) จำนวน 7 แห่ง และไม่มีห้องเย็น จำนวน 17 แห่ง โดยมีสถาบันเกษตรกรเพียง 4 แห่งที่มีรถห้องเย็น ส่วนที่เหลือ จำนวน 20 แห่ง ไม่มีรถห้องเย็น
รูปแบบและวิธีการจัดการสินค้าแต่ละประเภท พบว่า ทุเรียนผลสด ขนุน มะม่วง ผักใบ เพื่อส่งออกไปยังตลาดในและนอกประเทศ สหกรณ์จะมีการควบคุมอุณหภูมิโดยหลีกเลี่ยงแสงแดด ประมาณ 25 °c ขณะที่ทุเรียนแกะเนื้อ มีการจัดเก็บผลผลิตเพื่อการแปรรูป ในห้องแช่เย็น/แช่แข็งที่มีอุณหภูมิประมาณ -70 ถึง 0 °c ส่วนมังคุดและเงาะ มีการลดความร้อนด้วยน้ำเย็น(น้ำผสมน้ำแข็ง) หรือ Hydro Cooling โดยนำตะกร้าผลผลิตไหลผ่านน้ำเย็นและเคลื่อนย้ายไปตามสายพาน อุณหภูมิประมาณ1 - 2 °c ขณะที่การส่งออกมะม่วง ใช้ห้องเย็นในอุณหภูมิประมาณ 10 °c และเห็ดใช้ห้องเย็นในอุณหภูมิประมาณ 15 °c
สำหรับตัวอย่างสถาบันเกษตรกร ที่มีการบริหารจัดการโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นอย่างดี คือ สหกรณ์ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีซึ่งทำธุรกิจรวบรวมผลไม้หลายชนิด อาทิ ทุเรียน มังคุด มะม่วง สละ แก้วมังกร ลำไย ลองกอง โดยสหกรณ์ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 75 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงงาน (30 ล้านบาท) และจัดซื้อเครื่องอบไอน้ำ (45 ล้านบาท) และมีห้องเย็นขนาดความจุ 1,080 ตัน เก็บรักษาผลผลิตได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งสหกรณ์เน้นยึดหลักการทำธุรกิจรวบรวมผลไม้ให้สามารถใช้ประโยชน์จากโรงอบไอน้ำและอาคารตัดแต่งผลไม้เพื่อการส่งออกและห้องเย็นให้คุ้มค่าต่อเนื่องตลอดปี อย่างไรก็ตาม แม้จังหวัดจันทบุรีไม่ได้เป็นแหล่งผลิตมะม่วงแต่มีการรับซื้อมะม่วงจากเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ อีสาน ใต้ และนำมาเข้ากระบวนการตัดแต่งและคัดบรรจุ ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนส่งผลให้ราคามะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงดิบ (มะม่วงน้ำยำ) ในประเทศมีราคาดีขึ้น นอกจากนี้ สหกรณ์ได้ใช้ห้องเย็นผลิตทุเรียนแช่แข็งเพื่อส่งไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทุเรียน และช่วยลดการสูญเสียและชะลอการเน่าเสียของทุเรียนให้กับสมาชิกอีกด้วย
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมสถาบันเกษตรกร ทั้ง 24 แห่ง เห็นว่าระบบโซ่ความเย็นมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากช่วยลดการสูญเสีย ชะลอการสุกของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ช่วยเพิ่มยอดขาย โดยหากเป็นห้องเย็นที่สามารถทำความเย็นได้มากถึง -70 จะสามารถเก็บรักษาผลผลิตได้นานถึง 3 ปี ซึ่งช่วยชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงกระจุกตัวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สถาบันเกษตรกร ยังมองว่าระบบโซ่ความเย็น ต้องใช้เงินลงทุนสูง และ ยังขาดทักษะความรู้ในการใช้ระบบโซ่ความเย็น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะความรู้ในเรื่องการใช้โซ่ความเย็น ตลอดจนการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบโซ่ความเย็นในสินค้าเกษตร เป็นต้น ในขณะที่ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานควบคู่ไปกับสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีการร่วมมือและวางแผนการใช้งานห้องเย็นและรถห้องเย็นระหว่างสถาบันเกษตรด้วยกัน หรือระหว่างสถาบันเกษตรกรและเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลด้านโซ่ความเย็นในสินค้าเกษตรและผลการศึกษาข้างต้น สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร โทร. 0 2579 3757 โดยรายละเอียดผลการศึกษา ในครั้งนี้ สศก. จะนำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนงาน/โครงการ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
\\\