ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้จัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในชื่อ "ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ ได้แก่ การใช้งานเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (Internet of Thing, IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intellgence,AI) มาใช้ในการพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรม จะช่วยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ต้องการ ทั้งนี้ผลการวัดจะถูกส่งผ่านเครือข่ายการสื่อสารข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประมวลผลในการควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิต เป็นการยกระดับคุณภาพของกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น มีคุณภาพตามต้องการ และเป็นการลดต้นทุนการผลิตอันเนื่องมาจากผลผลิตได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนางลักษมี ปลั่งแสงมาศ นายกสมาคมมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การสอบเทียบเครื่องมือวัดในภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ที่ภาคอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการรับรอง เช่น ISO 9001 ISO 14000 ISO 18000 ISO/IEC 17025 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของประเทศให้สามารถแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจได้ในระดับสากล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ทักษะและสมรรถนะทางด้านการใช้เครื่องมือวัด รวมถึงการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ได้ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพมาตรวิทยา สาขาอาชีพผู้สอบเทียบเครื่องมือวัด ซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรที่เหมาะสมให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้พัฒนาความรู้ทักษะและสมรรถนะของครูผู้สอนในสังกัด โดยมุ่งพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีเครื่องมือวัด การใช้เครื่องมือวัด รวมถึงการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้มีความถูกต้องและแม่นยำตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น สอศ.กับสมาคมมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย (สมท.) จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตวิชาชีพมาตรวิทยามิติยุค 4.0 สำหรับครูผู้สอนในสังกัด สอศ.ขึ้น
โครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพมาตรวิทยามิติยุค 4.0 เป็นการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ในด้านเทคโนโลยีเครื่องมือวัดที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยมีการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ทักษะของครูผู้สอน สาขาวิชาช่างกลโรงงาน เทคนิคการผลิต เทคนิคอุตสาหกรรม หรือสาขาวิชาเครื่องมือวัดและควบคุม เพื่อให้ทำการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือวัดให้สอดคล้องกับคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพมาตรวิทยา รองเลขาธิการกล่าวปิดท้าย