ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูลว่า งานนี้นอกจากจะช่วยเติมเชื้อไฟให้ตัวเองแล้ว ยังได้เห็นแนวทางของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่หลายฝ่ายร่วมมือกันทดลองและปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศไทยให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ที่อยู่พื้นฐานคือ "เด็กมีความสุขในการเรียนรู้" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหาความรู้ของเด็กเพื่อจะพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคตข้างหน้า โดยพบว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลที่ใช้ "โครงงานฐานวิจัย" ผ่านกระบวนการเรียนการสอนนั้น สามารถพัฒนาศักยภาพของการเป็นผู้นำ และสามารถนำความรู้ความสามารถที่เป็นพื้นฐานจากการเรียนตั้งแต่ปฐมวัยไปพัฒนาตัวเองและต่อยอดได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เพราะปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เด็กไทยในวันนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า คือคนที่ต้องเข้าแบกภาระของประเทศเราไว้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัยตั้งแต่วันนี้
"วันนี้จังหวัดสตูลเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาแล้ว แต่ผมเห็นด้วยกับหลายท่านว่าเรื่องการศึกษาไม่ใช่เพียง Mission ของคนสตูลหรือจังหวัดใดเท่านั้น แต่ควรเป็น Mission ของคนไทยทั้งประเทศ ในมุมของกระทรวงศึกษาธิการ ยุคหนึ่งเรามีอุปสรรคเรื่องกฏระเบียบข้อบังคับที่ต้องไปทิศทางเดียวกัน แต่บริบทของปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วบางอย่างขาดบางอย่างเกินก็คงต้องเข้ามาช่วยกัน ในฐานะกระทรวงศึกษาเราอยากรับฟัง อยากรู้วิธีการ และร่วมกันหา How to เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จมากกว่าแค่การรับรู้ปัญหา ซึ่งเป็นงานใหญ่เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องสร้างความร่วมมือจากครู อาจารย์ และผู้ปกครองเพื่อทดลองสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดประโยน์กับเด็กจริง ๆ พร้อมทั้งถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่ออกสู่วงกว้าง"
ที่ผ่านมาเราสอนให้นักเรียนตั้งคำถาม แต่วันนี้พวกเราเองก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่าเรื่องการศึกษาที่ผ่านมาทำไมยังแก้ไขไม่ได้ ทำไมยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำไมเรื่องนี้ยังค้างคา แนวทางหนึ่งในการหาคำตอบสู่แนวทางแก้ปัญหาคือทุกฝ่ายต้องช่วยกันเสนอขึ้นมา เพราะท่านเป็นผู้รู้ดีที่สุด ตนเชื่อเหมือนทุกคนว่าการทำอะไรเหมือนเดิมเพื่อหวังการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มันไม่มีทางเป็นไปได้ วันนี้เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เดินเส้นทางเดียวกัน เห็นอนาคตของเด็กไทยร่วมกัน และพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงไปด้วยกัน
ศาตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทำไมต้องมีพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา" ในงานสมัชชาการศึกษาจังหวัดสตูล ว่า ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่หนักหน่วง และแก้ไขได้ยาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ครั้งแรกที่ตมมาเยี่ยมสตูล ที่โรงเรียนอนุบาลสตูลได้เห็น ผอ.สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จาก สกสว. ร่วมกันนำกระบวนการวิจัยที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ มาปรับใช้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ให้ตั้งคำถามที่อยากรู้แล้วให้นักเรียนทำวิจัยเอง หาวิธีที่จะทำให้ได้คำตอบในเรื่องที่อยากรู้ด้วยตัวเอง ซึ่ง UNESCO Global Geoparks หรืออุทยานธรณีสตูล ก็เป็นผลผลิตจากกระบวนการเรียนแบบวิจัยของที่นี่เพราะเด็กเป็นคนค้นพบ ซึ่งเกิดจากคำถามที่เขาอยากรู้เอง ว่าในอำเภอเมืองสตูลมีฟอสซิลหรือไม่แล้วก็ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อหาคำตอบ และเด็กสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะเขาทำจริง รู้จริง และที่น่าสนใจคือ "เด็กสนุกมาก" นี่เป็นตัวอย่างของกระบวนการศึกษาที่มีความหมายกับเด็ก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับโรงเรียนเล็ก ๆ หลายแห่งทั้งในจังหวัดสตูลและทั่วประเทศ กับดักความยากจนเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ แต่การศึกษาที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหลุดพ้นกับดักนี้ และเด็กไทยจะสามารถแข่งขันได้ ดังนั้นเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้สำเร็จ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลเป็นอีกหนึ่งความหวัง ร่วมกับอีก 6 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ตัวเด็ก คำตอบของการปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องของโอกาสในการสร้างเด็กสร้างผู้เรียนให้สามารถค้นหาและเติมเต็มศักยภาพของตัวเองได้
"การศึกษาทำได้ตลอดชีวิต แต่ละคนแต่ละช่วงวัยก็มีความถนัดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเด็กจะเรียนรู้อย่างไร จะนำความรู้ไปใช้อย่างไร จะตอบตัวเองอย่างไร เป็นสมรรถนะของเด็กในศตวรรษที่ 21 รวมถึงเรื่อง Digital Literacy ความสามารถในการจะใช้เครื่องมือสื่อสารทั้งหลายมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ เพราะสาระความรู้มีอยู่ทุกที่เด็กจึงต้องรู้วิธีไปหาความรู้ ซึ่งการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ของโรงเรียนอนุบาลสตูลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน"
ศ.นพ.จรัส กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นโรงเรียนนำร่องสำคัญมากที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากต้นสังกัดและมีอิสระ เพราะการศึกษาไม่สามารถสั่งจากตรงกลางอย่างเดียวแล้วใช้ทั้งประเทศได้ การศึกษาที่ดีต้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และมีกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัดใช้การมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เพื่อทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อเด็กจริง ๆ
ทั้งนี้ในปีแรกของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลเริ่มต้นจากโรงเรียนนำร่อง 10 แห่งที่กล้าปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนโดยใช้หลักสูตรโครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือ และในโอกาสที่ย่างก้าวสู่ปีที่ 2 จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อให้ทุกภาคส่วนในสตูลมาร่วมกันกำหนดคุณลักษณะของคนสตูลในศตวรรษที่ 21 และรูปแบบของการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนสตูลต่อไป