ฟิทช์ให้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกแก่ ธ.ทหารไทย และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ 'BBB-’

อังคาร ๐๓ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๑
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็นแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพและคงอับดับเครดิตดังกล่าวที่ 'BBB-' และ 'AA-(tha)' ตามลำดับ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ยังให้เครดิตพินิจเป็นบวก (Rating Watch Positive) แก่อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ TMB สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

การประกาศอันดับเครดิตเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศยืนยันการควบรวมกิจการ (merger) ระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และธุรกรรมดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562

ตามแผนการควบรวมกิจการ TMB จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ TBANK จากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่าเงินสดของธุรกรรมที่ประมาณ 130 พันล้านบาท โดย TMB คาดว่าเม็ดเงินประมาณ 106.5 พันล้านบาท (หรือประมาณ 80% มูลค่าธุรกรรม) จะเป็นการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งหรือประมาณ 42.5 พันล้านบาทจะเป็นการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคาร นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังระบุให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TBANK จะต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นใน TBANK ส่วนหนึ่งกลับมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB ในมูลค่าประมาณ 57.6 พันล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% ของมูลค่าธุรกรรม TMB จะทำการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1))

ผู้ถือหุ้นของ TMB 3 รายใหญ่หลังจากการควบรวมกิจการจะประกอบด้วย ING Bank N.V. ('AA-'/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งจะถือหุ้นในสัดส่วน 21.3% ในขณะที่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้นในสัดส่วน 20.4% และ กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในสัดส่วน 18.4% ทั้งนี้กระบวนการรวมธุรกิจและการดำเนินงาน (integration) จะเริ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2562 และการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมด (entire business transfer) น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทยในด้านเงินฝาก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5% ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่ TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอับดับที่ 6 ในด้านเงินฝากโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 6% แม้ว่าหลังจากการควบรวมกิจการ TMB จะมีสถานะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 แต่ฟิทช์คาดว่าทางการน่าจะพิจารณาว่า TMB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ (systemic importance)

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากล อันเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating) ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก สอดคล้องกับมุมมองของฟิทช์ว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลให้โครงสร้างทางเครดิตของ TMB ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

แม้ว่าธนาคารจะมีความเสี่ยงจากการดำเนิน (execution risk) การควบรวมกิจการ แต่ฟิทช์คาดความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัด เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าทั้ง TMB และ TBANK มีความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับที่ใกล้เคียงกัน และมีลักษณะธุรกิจที่ค่อนข้างส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคาร

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกมีปัจจัยพิจาณาจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าแนวโน้มของโครงสร้างเครดิต (credit profile) ของ TMB ที่จะมีการพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) และการระดมทุน (funding) โดยTMB จะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมีรูปแบบธุรกิจที่มีการกระจายตัวมากขึ้น (diversification) หลังจากการควบรวมกิจการ อีกทั้ง TBANK มีความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมฐานลูกค้าปัจจุบันของ TMB นอกจากนี้ด้วยขนาดเงินฝากที่ใหญ่ขึ้นและฐานลูกค้าเงินฝากที่มีการกระจายตัวมากขึ้น น่าจะช่วยให้ TMB มีโครงสร้างการระดมทุนที่มั่นคงมากขึ้นในระยะปานกลาง และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและเป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

ฟิทช์ยังคาดว่าการควบรวมกิจการน่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกแก่ปัจจัยเครดิตด้านอื่นของ TMB ด้วย เช่นด้านระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ด้านคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งด้านรายได้และอัตรากำไร แต่อย่างไรก็ตามอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อจะให้มีความแน่นอนมากขึ้นว่าผลกระทบต่อปัจจัยดังกล่าวจะมีนัยสำคัญเพียงใด

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)

เครดิตพินิจเป็นบวกสำหรับอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB สะท้อนถึงโอกาสที่อันดับเครดิตดังกล่าวอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจาก TMB จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทยหลังจากการควบรวมกิจการ โดยธนาคารจะมีสินทรัพย์และเงินฝากที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและขยับเข้ามาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศที่ฟิทช์เชื่อว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางการบังคับใช้เกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำที่สูงขึ้นและมีความระมัดระวังมากขึ้นกับธนาคาร เพื่อลดความเสี่ยงที่ธนาคารจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (failure) แต่ในขณะเดียวกันฟิทช์ก็มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้โอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ TMB ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในกรณีที่มีความจำเป็น

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TMB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss-severity risks) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ และไม่ได้มีการบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งแสดงว่า TMB มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและมีรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการที่ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้ฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากการรวมธุรกิจและระบบงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการที่ธนาคารไม่ผ่อนปรนมาตรฐานความเสี่ยงสินเชื่อเพื่อช่วยให้มีผลกำไรดีขึ้น ภายใต้ภาวะที่สินเชื่อในตลาดมีอัตราการเติบโตต่ำแต่ยังคงมีการแข่งขันสูง ในมุมมองของฟิทช์เชื่อว่าการปรับตัวดีขึ้นของโครงสร้างธุรกิจของธนาคารน่าจะสะท้อนในความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น และจะส่งผลให้ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นรากฐานสำคัญต่อผลประกอบการและฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้น เช่นในด้านรายได้และด้านการระดมทุน

แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" ได้ หากฟิทช์เชื่อว่าการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TMB ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง โดยตัวอย่างของกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากธนาคารไม่สามารถบริหารจัดการการรวมธุรกิจและระบบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากความซับซ้อนและความท้าทายในด้านการดำเนินงานและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ธนาคาร ทั้งนี้รวมถึงการที่ธนาคารไม่สามารถมีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่ดีพอแม้จะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการและเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB หลังจากการควบรวมกิจการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผน และได้รับการเห็นชอบในด้านเกณฑ์ กฎหมาย และกฎระเบียบของการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ TMB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จาก ESG Relevance Scores, visit www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:

TMB:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิต ที่ 'BBB-'; ปรับ "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก" จาก "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ"

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิต ที่ 'F3'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิต ที่ 'bbb-'

- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '3'; เครดิตพินิจเป็นบวก

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ 'BB+'; เครดิตพินิจเป็นบวก

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิต ที่ 'AA-(tha)'; "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก" จาก "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ"

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิต ที่ 'F1+(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับเครดิต ที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิต ที่ 'BBB-'

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับเครดิต ที่ 'A+(tha)'

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version