นายอดุลย์ กล่าวว่า ในการเจาะตลาดอินเดียให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจความหลากหลายของอินเดียและดำเนินกลยุทธ์การตลาดโดยสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรัฐ อาทิ รัฐมหาราษฏระ มีมุมไบเป็นเมืองหลวง มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจอินเดียมากที่สุด ผู้ประกอบการไทยควรเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลาง และเชื่อมโยงการผลิตสินค้าในซัพพลายเชนของอินเดีย รัฐทมิฬนาฑู มีเจนไนเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางการผลิตของอินเดีย มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากที่สุดถึง 40 แห่ง มีแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรจำนวนมากที่สุดในประเทศอินเดีย ผู้ประกอบการไทยอาจจะเข้าไปลงทุนได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ อาหารแปรรูป ยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐคุชราตมีคานธีนาการ์เป็นเมืองหลวง มีความพร้อมด้านคลัสเตอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ มีท่าเรือขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เหมาะกับการตั้งฐานการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก
กรรมการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า รัฐที่มีศักยภาพลำดับต้นๆ ของอินเดียส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกและตอนใต้ของประเทศ ซึ่งแต่ละรัฐมีความโดดเด่นและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่แตกต่างกัน อาทิ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม กฎระเบียบ และขนาดตลาด ผู้ประกอบการไทยควรมองอินเดียในลักษณะ 1 รัฐ เท่ากับ 1 ประเทศ เพื่อศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละรัฐก่อนจะรุกเข้าไปทำธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจเข้าไปในอินเดีย ทั้งด้านเงินทุนหมุนเวียน เงินทุนระยะกลางถึงระยะยาว ประกันการส่งออก และประกันความเสี่ยงการลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมและความมั่นใจในการรุกเข้าตลาดอินเดีย สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจและบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากคู่ค้าในอินเดีย
ทั้งนี้ อินเดียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 10 ของไทย การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่า 12,463.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปอินเดีย 7,600.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย 4,863.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าจากอินเดียที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
"EXIM BANK พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยบุกตลาดใหม่อย่างอินเดีย โดยสนับสนุนข้อมูลความรู้ อาทิ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละรัฐ ซึ่งทำให้การเลือกพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ รวมทั้งสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ด้วยความพร้อมด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อจะได้แข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายอดุลย์กล่าว