นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังจากที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในพื้นที่ 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 100 คน ได้เข้าพบ และยื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาที่การขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ เป็น 40% ส่งผลให้มีการตัดโควตารับซื้อใบยาสูบลง 50% เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2562 ว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เร่งดำเนินการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ โดยการหาแนวทางเพิ่มรายได้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการยาสูบแห่งประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่จะนำใบยาสูบไปหาคุณสมบัติพิเศษที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ เช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช นิโคตินเหลว และ ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบยาสูบของไทยในอนาคต
"ใบยาสูบถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย ที่มีคุณภาพและมีการเพาะปลูกมาอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ดังนั้นหากมีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบยาสูบ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านทางวิทยาศาสตร์มาค้นคว้า หาคุณสมบัติพิเศษ ในสารเคมีที่อยู่ในตัวใบยาสูบมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าจะส่งผลต่อความคุ้มค่าในการเพาะปลูกยาสูบของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแนวทางความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ที่มีการวิจัยและพัฒนา สกัดสารเคมีจากใบยาสูบเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การทำตลาดให้กับใบยาสูบได้อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ตามกฎการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)
สำหรับข้อเสนอของเกษตรกรในด้านการพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการขึ้นภาษีให้เกิดความเหมาะสม หรือ เป็นแบบขั้นบันใด โดยขอให้ปรับปีละ 5% ทุกๆ 2 ปี นั้น ในเรื่องดังกล่าวคงต้องนำไปหารือกับกรมสรรพสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะไปช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอื่นๆแทนอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงสาเหตุที่มีการปรับภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นไปตามกติกาการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยได้ทำข้อตกลงไว้ รวมถึงเป็นการรณรงค์ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านสุขอนามัยให้เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทยเร่งสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาการตลาด และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ เพื่อการยกระดับองค์กรไปสู่องค์กรที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการผลิตบุหรี่ม้วน และขายในประเทศเท่านั้น รวมถึงการร่วมมือกับผู้จำหน่ายบุหรี่ แบรนด์ต่างๆจากต่างประเทศ เพื่อผลิตป้อนความต้องการของต่างประเทศ