ฟิทช์ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตระยะสั้นของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็น 'F1’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๐๕ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๔:๔๓
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น (Short-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) เป็น 'F1' จาก 'F2' ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency Issuer Default Rating) ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์คงอันดับและยกเลิกอันดับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเนื่องจากทางธนาคารไม่ได้มีการออกหุ้นกู้ภายใต้โครงการแล้ว

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน

ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ SCBT ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้เพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของธนาคารหนึ่งอันดับเป็น 'F1' เนื่องจากฟิทช์ได้ทบทวน (re-assess) อันดับเครดิตสากลระยะสั้นสำหรับสถาบันการเงินที่มีปัจจัยสนับสนุนจากบริษัทแม่ อีกทั้งการปรับเพิ่มอันดับครั้งนี้ยังสอดคล้องกับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากประกาศอันดับเครดิตล่าสุดหัวข้อ "Fitch Upgrades Short-Term Ratings of Six Sovereigns, Removes from UCO" ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562

อันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารแม่ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (SCB, A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'a') หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ SCBT (ซึ่งถือหุ้นโดย SCB ในสัดส่วน 99.9%) ได้รับประโยชน์จากจากการดำเนินงานร่วมกันกับกับธนาคารแม่ (synergy) โดย SCBT มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์และช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ (international business) ของกลุ่ม SCB แต่ฟิทช์ยังเชื่อว่าบทบาทและความสำคัญของ SCBT ต่อธนาคารแม่นั้นยังคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารลูกรายอื่นในกลุ่ม นอกจากนี้ SCBT มีการใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่ และยังมีการเชื่อมโยงและการผสานการดำเนินงานในระดับสูงกับกลุ่มธนาคารแม่ นอกจากนี้ธนาคารแม่ยังมีอำนาจควบคุมการบริหารงานใน SCBT ฟิทช์ใช้อันดับความแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่แทนที่จะใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) สำหรับการประเมินปัจจัยสนับสนุนสำหรับธนาคารลูก เนื่องจากฟิทช์มองว่าอาจมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ SCBT จะได้รับจาก qualifying junior debt ของธนาคารแม่ที่เป็นปัจจัยทำให้ SCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน

อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร อยู่ที่อันดับสูงสุดที่ 'AAA(tha)' และ 'F1+(tha)' เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'

ฟิทช์คงอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT เพื่อสะท้อนว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากธนาคารแม่ ในกรณีที่มีความจำเป็น

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย (domestic franchise) ที่แข็งแกร่งในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงิน (corporate and institutional-banking) เมื่อเทียบกับธนาคารต่างชาติและธนาคารขนาดกลางในประเทศไทย แม้ SCBT จะได้มีการปรับกลยุทธ์ของธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากการขายกลุ่มธุรกิจรายย่อย (retail banking) และหยุดการทำธุรกิจกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง (commercial banking) อย่างไรก็ตามถึงแม้ธนาคารจะมีลักษณะธุรกิจที่มีความกระจุกตัวมากขึ้นจากการที่ SCBT เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงินแต่ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพและสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารที่ค่อนข้างระมัดระวัง (conservative risk appetite) เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศไทย

SCBT มีฐานะเงินกองทุนเป็นจุดแข็งเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งของธนาคาร โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 ratio) ในระดับที่สูงมากกว่า 40% ณ สิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตามธนาคารน่าจะยังคงดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกองทุนให้เหมาะสม (optimise) ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางดำเนินการ นอกจากฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง SCBT ยังมีโครงสร้างการระดมทุนและสภาพคล่อง (funding and liquidity profile) ที่ดีเป็นปัจจัยสนับสนุน อีกทั้งธนาคารยังอยู่ระหว่างการดำเนินการลดระดับสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (legacy impaired loans) อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันในด้านรายได้ เนื่องจากสงครามการค้าที่ยังคงไม่มีข้อยุติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ SCBT ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งงนี้ฟิทช์มองว่า SCBT มีโครงสร้างรายได้และความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุนอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากความแข็งแกร่งทางการเงิน (ability) ของ SCB หรือโอกาส (propensity) ที่ SCB จะให้การสนับสนุน เป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติแก่ SCBT มีการเปลี่ยนแปลง โดยฟิทช์พิจารณาความสามารถดังกล่าวผ่านอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB น่าจะทำให้อันดับเครดิตของ SCBT ลดลงเช่นกัน ในทางกลับกันการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศเนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวจะถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-' ส่วนในด้านของโอกาสที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT ฟิทช์อาจลดอันดับเครดิตของ SCBT ถ้า SCBT มีระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มที่ลดลลงหรือ SCB มีการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT

อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT ซึ่งเป็นการวัดความน่าเชื่อถือทางการเงินเมื่อเทียบกับประเทศไทย ได้อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้ว จึงไม่สามารถปรับขึ้นได้อีก ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยในด้านการสนับสนุนจากธนาคารแม่ของ SCBT ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับระดับอันดับเครดิตของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT หากเครือข่ายธุรกิจและรูปแบบของธุรกิจ (business model) ของธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและการมีกระจายตัวของธุรกิจที่ดีขึ้น (diversification) รวมทั้งการที่ธนาคารมีโครงสร้างรายได้ที่ยืดหยุ่น (resilience) แม้ว่าในภาวะที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินงาน ฟิทช์คาดว่าโอกาสที่ธนาคารจะเพิ่มการกระจายตัวของธุรกิจมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายในการเน้นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงิน แต่ระดับความยืดหยุ่นน่าจะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง

ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT อาจมีโอกาสที่จะถูกปรับลดอันดับ หากเครือข่ายธุรกิจของธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างมากและหากความสามารถในการทำกำไรหรือคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างมากและต่อเนื่องในระยะปานกลาง นอกจากนี้หากอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างมากอาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับ

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นเพิ่มอันดับเป็น 'F1' จาก 'F2'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นเพิ่มอันดับเป็น 'F1' จาก 'F2'

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb'

- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'

-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'F1+(tha)' และยกเลิกอันดับเครดิต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version