สคร. 12 สงขลา แนะทำความเข้าใจโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

ศุกร์ ๐๖ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๓:๔๖
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ห่วงหน้าฝน มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมแนะประชาชนในพื้นที่ทำความเข้าใจโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease)

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หน้าฝนเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอื่นๆ โรคที่ควรให้ความสนใจในช่วงนี้ นอกจากโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว คือโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง แต่การป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยถือเป็นเรื่องที่ประชาคนควรให้ความสำคัญ

โรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย เพราะประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมีพาหะนำโรคคือยุงลายอยู่ชุกชุม ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้ซิกาประปราย กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค แต่ไม่เคยมีการระบาดใหญ่เป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่บริเวณลำตัว แขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังอาจได้รับการตรวจโดยการเจาะเลือด เก็บปัสสาวะ ในกรณีที่ป่วยมายังไม่ถึง 7 วัน หากป่วยนานกว่า 7 วัน จะตรวจเฉพาะปัสสาวะ เนื่องจากเชื้อไวรัสซิกาสามารถอยู่ในเลือดได้แค่ 7 วัน ตั้งแต่วันเริ่มป่วย ต่อจากนั้นเชื้อจะตรวจพบในปัสสาวะได้ต่อไปอีก 1 เดือน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจะรักษาตามอาการเพื่อบรรเทา การเจ็บป่วย

การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด คล้ายกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจหรือจากการสัมผัสทั่วไป การแพร่เชื้อที่สำคัญคือผ่านทางยุงลายที่มีเชื้อกัด รองลงมาคือทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกผ่านสายสะดือ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง และทายากันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำ และยุงลายตัวแก่ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศว่าการติดเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติ เกิดภาวะศีรษะเล็กได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อใน 3-6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการฝากครรภ์ และติดตามตลอดการตั้งครรภ์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสซิกานั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ เพื่อทำการตรวจวัดขนาดศีรษะของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไม่ได้เกิดภาวะศีรษะเล็กทุกราย ดังนั้น คนรอบข้างจะต้องคอยดูแลและเป็นกำลังใจตลอดการตั้งครรภ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ