ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2562 "รวมพลัง อาสาสู้โกง" ว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่เห็นความคึกคักของทุกคนที่เสียสละมารวมพลังอาสาสู้โกงร่วมกับสมาชิก 54 องค์กร โดยความริเริ่มต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีมาตั้งแต่สมัยนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เคยบอกว่าหากไม่แก้ปัญหาทุจริตประเทศก็จะล่มสลายในอนาคต จนต่อมา นายประมนต์ สุธีวงศ์ มารับหน้าที่ผู้นำองค์กรทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นเสียสละ รวมพลังอาสาทั้งหลายระดับ ซึ่งที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โครงการข้อตกลงคุณธรรม จนมาถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ และภาคประชาสังคมเห็นความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วง 7 ปี ปรากฏชัดเจน ทั้งผลสำรวจจากประชาชนที่ระบุว่าไม่ยอมรับการทุจริต ถึง 99% และต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา 70 % อีกทั้งในระยะหลังเราจะเริ่มพบเห็นการออกมาเปิดโปงทุจริตคอร์รัปชันของประชาชนที่ทนไม่ได้กับการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญปัญหาทุจริตยังนำไปสู่ผลกระทบหลายด้านไปจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ความแตกแยก
"เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีผลกระทบกับพวกเราทุกคน หากทิ้งไว้ไม่จัดการ ก็มีโอกาสที่สังคมจะล่มสลายอย่างที่คุณดุสิตได้กล่าวไว้ และหากไม่ทำภาระก็จะตกไปสู่ลูกหลานในอนาคต ดังนั้นการจะรังเกียจปัญหาทุจริตอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องไม่ยอมจำนนกับเรื่องนี้ ทั้งในครอบครัว คนใกล้ตัว องค์กร ภาคส่วนต่างๆ ในงานนี้ มีตัวแทน ภาครัฐ การเมือง รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชน ศิลปิน และส่วนอื่นในสังคมมาร่วมงานกว่า 5,000 คน ถ้าทุกคนร่วมมือก็จะไม่มีความสงสัยว่าเราจะเอาชนะการสู้โกงได้หรือไม่ จะเหลือเพียงแค่ความสงสัยว่าเราจะเอาชนะการทุจริตได้เมื่อใด" นายวิเชียรกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ ปลุกพลังเงียบ แนะน้อมนำพระราโชบายจิตอาสา รวมพลังคนไทยปราบคอร์รัปชัน
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวในการ ปาฐกถาพิเศษ "รวมพลังคนไทย อาสาสู้โกง" ตอนหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องทุจริตมีตัวเลขที่เปรียบเทียบระหว่างสิงคโปร์ กับ ไทย โดยสิงคโปร์มีคะแนน 85 ไทย อยู่ประมาณ 36 -37 คะแนน หมายความว่าเงิน 100 บาท สิงคโปร์รั่วไหล 15 บาท ใช้ได้จริงแค่ 85 บาท แต่ของไทยใช้ได้จริงแค่ 37 บาท ตรงนี้เป็นเรื่องวิกฤติของประทศ และเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องของคนที่อยู่ในอำนาจกับผลประโยชน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งข้าราชการ ข้าราชการการเมือง ผู้ประกอบการ เชื่อมโยงระบบอุปถัมป์ ผลประโยชน์ทับซ้อน
"เงินพวกนี้ไปไหน ทั้งหมดนี้เกิดจากการเสพอำนาจและผลประโยชน์ บ้านนี้เมืองนี้บริหารกันอย่างไร ผมเคยพูดว่าบริหารด้วยข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นผู้ใช้งบประมาณ ใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้คือความคิดผม คือสิ่งที่ผ่านมาในสมัยที่ผมทำงาน สาเหตุหลักคือคนที่บริหารงบประมาณ บริหารทรัพยากรของชาติ คือ ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเห็นได้เมื่อเกิดคดีความเรื่องพวกนี้ขึ้นก็จะเห็นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำให้เกิดปัญหาพวกนี้" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้ ACT ต้องการ Active Citizen อาสาต่อสู้โกง ซึ่งถูกต้องแล้ว เนื่องจากลำพังระบบบริหารราชการแผ่นดินไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าหากประชาชนไม่ช่วยกัน ไม่รับรู้รับทราบและร่วมมือ ท้ายสุดก็จะนำไปสู่การทุจริต ดังนั้น ต้องหาพลังเงียบออกมา ต้องตื่นรู้ ตระหนักรู้ อย่านิ่ง อย่าเฉย และขอนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพูดถึง จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ที่ใช้แนวทางนี้เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งก็คือว่า จริงๆ แล้วเขาขาดองค์กรนำ เราต้องออกมานำ เรา ก็หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องออกมานำ นำให้ประชาชนกล้าที่จะออกมา กล้าที่จะแสดงออก
"ถ้าภัยพิบัติก็เหมือนกับจิตอาสาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งขึ้น ภัยหรือปัญหาการทุจริตมันก็เหมือนกัน มันกำลังวิกฤติ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ ACT กำลังออกมาที่จะเชิญชวนจิตอาสาออกมา ช่วยเหลือ และเป็นองค์กรนำคนไทย ขอให้ท่านประสบผลสำเร็จ ขอให้การทำงานและความตั้งใจ Active Citizen ประสบความสำเร็จ หลั่งไหลเข้ามาทำงานร่วมกัน"
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดตัว ACT Ai ระบบปราบโกงอัจฉริยะสำหรับประชาชน
ภายในงาน ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กรรมการบริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ผู้รับผิดชอบ ACT Ai ได้เปิดตัวเทคโนโลยี รวมพลังประชาชน ACT Ai ฐานข้อมูลและระบบวิเคราะห์กลโกงอัจฉริยะ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปดูและแจ้งเบาะแสข้อมูลได้ที่ actai.co ซึ่งจะมีทั้งฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้สะดวก รวมทั้ง แจ้งเตือนความผิดปกติ มีระบบการค้นหาที่สะดวกละเอียด รวดเร็วและเป็นระบบ พร้อมระบุด้วยว่า ในแต่ละปีจะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 3.5 ล้านโครงการ เป็นเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นขุมทรัพย์สำหรับคนโกง ที่ผ่านมาประชาชนมีความตื่นตัวออกมาเปิดโปง เรื่องราวทุจริตมากมาย ซึ่งปัจจัยความสำเร็จการแก้ปัญหาคือพลังประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีอาวุธที่มีศักยภาพที่ดีให้กับคนไทย และขอเชิญชวนประชาชนคนทั่วไปมารวมพลังต้านโกง
จากนั้นยังมีการประกาศจุดยืน "รวมพลังเครือข่ายพันธมิตร ต่อสู้กับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้ง นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.). รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท, ดร.เดือนเด่น นิคมบริษักษ์ ผอ.การวิจัยนโยบาย TDRI , น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.บริหาร สถาบันอิศรา และนายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุสด้าเบลส) ศิลปินนักร้อง
และได้เชิญนักการเมืองรุ่นใหม่ร่วมเสวนาพิเศษ หัวข้อ "จับตาการโกงประเทศ ในมุมมองของพรรคการเมือง" ได้แก่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร พรรคเพื่อไทย น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ พรรครวมพลังประชาชาติไทย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พรรคอนาคตใหม่ โดยแต่ละพรรคการเมืองให้คำสัญญาว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละพรรคมีแนวนโยบายที่วางไว้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียง และเห็นพ้องว่าต้องเปิดข้อมูลภาครัฐเพื่อความโปร่งใส วางระบบปกป้องคนแจ้งเบาะแสด้วย