สื่อท้องถิ่นตะวันตกจับมือเครือข่ายผู้บริโภคประกาศปฏิญญา เดินหน้าหากลไกต้าน “ข่าวลวง”

จันทร์ ๐๙ กันยายน ๒๐๑๙ ๐๙:๒๕
สื่อมวลชนท้องถิ่นภาคตะวันตกประกาศปฏิญญา "รวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก" หวังสร้างมาตรฐานสื่อท้องถิ่นคุณภาพต้านข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย วอนสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ปลดล็อคการเข้าเป็นสมาชิก เพื่อผลประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนสูงสุด ด้านสุภิญญาเดินหน้าเตรียมดึง เฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ หารือร่วมแก้ปัญหา ขณะที่รองคณบดี คณะวารสารฯ มธ. แนะคนสื่อมีจรรยาบรรณควบคู่มืออาชีพ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบัน ChangeFusion และ สมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล" ภายใต้ โครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวงเพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล และร่วมประกาศ "ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก" หวังสร้างความตระหนักรู้ และสร้างบรรทัดฐานในการผลิตและนำเสนอข่าวและข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องมีคุณภาพให้กับสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อต้านข่าวลวง (Fake News) ที่กำลังเป็นกระแสและสร้างความเสียหายในสังคมไทย ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ไดมอนด์ จ.เพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีสื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ข่าวลวงกำลังกลายวิวาทะระดับชาติ แต่ชาวบ้านยังรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวเพราะเป็นการสู้กันของพรรคการเมือง แต่จากการลงพื้นที่พบว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ระดับชาติก็ทำไป แต่การแก้ปัญหาแบบศูนย์รวมอำนาจอาจไม่ตอบโจทย์ และการรับมือกับเรื่องออนไลน์ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ การแก้ปัญหาอย่างแท้จจริงต้องให้ประชาชนตื่นตัวในการรู้เท่าทัน และถ้าเราสามารถสร้างสื่อมวลชนท้องถิ่นที่มีจิตวิญญาณเสรีภาพและมีความรับผิดชอบให้ตื่นตัวได้ ก็จะช่วยกระจายเรื่องนี้ลงไปสู่ชุมชนรากหญ้า กระตุ้นให้ภาคประชาชนตื่นตัวในเรื่องด้านมืดออนไลน์ และรับมืออย่างมีสติในลักษณะพึ่งตนเองก่อน

"อีกเหตุผลคืออยากหาทางรอดให้สื่อชุมชนท้องถิ่น เพราะสุดท้ายในโลกของข้อมูลข่าวสาร คนที่มีคุณภาพจะอยู่ได้ แต่ต้องมีการสนับสนุนด้วย ซึ่งต้องไปสู่การเจรจาให้เสิร์จเอนจินกูเกิล และแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและไลน์ หันมาความสำคัญกับข่าวที่มีการตรวจสอบแล้วว่านำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง โดยอาจทำเป็นโครงการ CSR ทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบ ปรับอัลกอริทึมการเข้าถึง หรือมีราคาพิเศษในการซื้อฟังก์ชันการใช้งาน ยืนยันว่าไม่ขัดขวางแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แต่ขอให้ส่งอะไรกลับคืนมาให้สังคมไทยบ้าง ไม่ใช่แค่มารับผลประโยชน์ตักตวงเงินจากประเทศไทย แต่สังคมกลับได้ข่าวสารเนื้อหาที่เชื่อถือไม่ได้ โดยจะจัดเวทีหารือเรื่องดังกล่าวในปีหน้า" ผู้จัดการโครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวงเพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล ระบุ

นางสาวสุภิญญา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากสื่อท้องถิ่นแล้ว จะขยายเรื่องนี้ไปสู่กลุ่มผู้นำทางความคิดในชุมชนระดับรากหญ้า เช่น แกนนำเอ็นจีโอ แกนนำภาคประชาสังคม โดยจะไม่ใช่แค่ประเด็นข่าวลวงอย่างเดียว เพราะด้านมืดออนไลน์มาแล้ว และใน 5 ปีข้างหน้าจะรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ จึงจำเป็นต้องติดเครื่องมือติดอาวุธให้พลเมืองประชาชนรับมือให้ได้ หลังจากนี้จะจัดเวทีในลักษณะนี้อีก 3 ครั้ง ที่ จ.เชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี และที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดจังหวัดโมเดลต้นแบบ ที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานอื่นพูดเรื่องนี้มากขึ้น เช่น สสส.ที่มีเครือข่ายสุขภาวะทั่วประเทศ ต่อไปก็อาจผนวกเรื่องภัยออนไลน์เข้าไปด้วย หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ทางวิชาการก็ย่อมได้

"เราอยากช่วยพัฒนาให้สื่อทั้งท้องถิ่นและสื่อระดับชาติกลายเป็นสื่อคุณภาพ สนับสนุนให้เขาอยู่รอดได้และเป็นที่ยอมรับ โดยไม่ถูกกลืนหายไปกับเทคโนโลยี" นางสาวสุภิญญา กล่าว

นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ในฐานะนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี กล่าวว่า ปัญหาข่าวลวง หรือ Fake News ในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะใน จ.เพชรบุรี หรือพื้นที่ใกล้เคียงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะการทำข่าวในระดับท้องถิ่นของทางจังหวัด จะเน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุเป็นหลัก ร่วมมือร่วมใจกันรายงาน และไม่รับผลประโยชน์เบื้องหลัง แต่เป็นห่วงในแง่การทำข่าวระดับชาติ เนื่องจากทำวิชาชีพสื่อมา 30 ปี ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ที่ข่าวในยุคดิจิทัลจะสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เสพข่าว ซึ่งข่าว 1 ข่าว นั้นสามารถฆ่าคนทั้งเป็นได้ทั่วโลกภายในไม่กี่นาที และยิ่งหากข่าวนั้นเป็นข่าวลวงผลกระทบที่ตามมาจึงสาหัสและขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นทุกคน จึงเกิดคำถามว่าเราจะตั้งรับในเรื่องนี้กันอย่างไร จะเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์กันได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการกล่าวปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตกร่วมกันในวันนี้ โดยสื่อท้องถิ่นภาคตะวันตก สื่อภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสร้างสุขภาวะ และสถาบันวิชาการในท้องถิ่น

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงใจความของปฏิญญาว่า ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย พวกเราทุกคนจะรวมพลังกันเพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ตามกำลังและศักยภาพ เพื่อลดปัญหาข่าวลวง ดังนี้

1.ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจ ในข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม

2.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง ตั้งแต่เด็ก เยาวชน จนถึงผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)

3.พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม สามารถประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ

และ 4. สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว

"สิ่งที่อยากเห็นคือการตั้งองค์กระระดับชาติน่าเชื่อถือได้ คอยช่วยตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ประชาชนที่เสพข่าวสามารถรีเช็คข่าวบนโซเชียล ได้ที่เว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แต่มีสิ่งที่ต้องคิดต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จักเว็บไซต์หรือโซเชียลของเรา" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี เผย

ขณะที่ นายสุวโรจน์ สร้อยสุวรรณ์ ผู้ผลิตเพจข่าวเพชรบุรี 24 ชั่วโมง สมาชิกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี กล่าวว่า อยากให้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) เพิ่มโอกาสให้สื่อออนไลน์ท้องถิ่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแฟนเพจและประชาชนทั่วไปในการรับข่าวสารที่ถูกต้อง เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีเพจข่าวสารออนไลน์เป็นที่นิยม 1-2 เพจ แต่ละเพจมีคนติดตามกว่าแสนคนขึ้นไป แต่ด้วยผู้สื่อข่าวและผู้ดูแลเพจมีน้อย บางเพจมีเกือบสิบคนยังเกิดความผิดพลาด แต่หลายเพจมีผู้ดูแลแค่ 2 คน ก็น่าเป็นห่วง

ด้าน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีจรรยาบรรณสื่อกับสงครามข่าวสารในยุคดิจิทัลว่า เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้ระบบนิเวศสื่อเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนสามารถรายงานข่าวสารได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น ขณะที่ข่าวสารได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า สื่อมวลชนจึงต้องให้ความสำคัญกับ News Room Alert ให้มากขึ้น และคำว่ามืออาชีพต้องมาพร้อมกับจรรยาบรรณอาชีพ

"ด้านมืดของยุคดิจิทัล สุดท้ายในฐานะของคนทำสื่อสิ่งแรกคือต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีและอคติของตัวเอง เพราะข่าวลวงเกิดขึ้นและกลายเป็นกระแสจากสองสิ่งนี้ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดถ้า Fake News หลุดออกจากมือคนข่าว ตรงนี้จะทำให้ Fake News ทำงานอย่างทรงประสิทธิภาพ เพราะสื่อขายความน่าเชื่อถือ คนที่แชร์เขาก็เชื่อถือเรา แล้วความเป็นคนข่าวในยุคดิจิทัลต้องเป็นอย่างไร แน่นอนว่าต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันความเป็นวารสารศาสตร์ก็ต้องตระหนักตรงนี้ด้วย เพราะในช่วงหลังๆ พบว่าการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าทำงานเป็นนักข่าวรุ่นใหม่ ส่วนมากหลงว่าต้องเท่าทันเทคโนโลยี แต่ความเป็นวารสารศาสตร์หรือแก่นของความเป็นนักข่าวมีหรือไม่ อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันตระหนักในจุดนี้" รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. แจงเพิ่ม

นายวิชัย สอนเรือง กรรมการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสื่อมวลชนออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แล้วส่วนมากแข่งกันที่ความไวโดยไม่ค่อยลงพื้นที่หรือเช็คความถูกต้อง ในการหยิบยกประเด็นในโซเชียลมาทำเป็นข่าวเผยแพร่ต่อประชาชน จนสร้างผลกระทบ และความเดือดร้อนแก่ผู้ตกเป็นข่าว หรือผู้นำสารในข่าวนั้นไปปฏิบัติใช้ สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของประเด็นข่าวนั้นๆ ก่อนเผยแพร่ สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sonp .or.th และเช็คข่าวว่ามีการตรวจสอบข่าวนี้แล้วหรือไม่ กรณีมีข่าวดังกล่าวแล้วให้กดลิงก์ไปอ่านข่าวของสำนักข่าวที่มีการตรวจสอบ ถ้ายังไม่มีข่าวดังกล่าวให้ทำการแจ้ง ทางระบบจะส่งเรื่องไปให้สำนักข่าวตรวจสอบข่าวนั้น ๆ ด้วยการให้นักข่าวทำข่าว จากนั้นโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ตัวเองและแจ้งลิงก์มาทางแอดมิน แอดมินจะโพสต์ลิงก์บนเว็บสมาคม และแจ้งเพจสมาชิกให้ช่วยแชร์

"เร็วๆ นี้ทางสมาคมจะหารือกับเสิร์จเอนจินอย่างกูเกิล ว่าข่าวที่โพสต์ขึ้นหรือเสิร์จเจอจะต้องเป็นข่าวจริงเท่านั้น ซึ่งตรงนี้จะสำเร็จได้ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่นักข่าวด้วย" กรรมการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว

ขณะที่ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ดำเนินรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" กล่าวว่า ในโลกอินเทอเน็ตข้อมูลเท็จจริงแต่ละอย่าง จะเข้าถึงประชาชนไม่เหมือนกัน ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน รูปแบบสื่อในการเข้าถึงก็แตกต่างกัน และจะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลเท็จที่ใส่ไปอินเทอเน็ตแล้วไม่หายออกไป แต่จะวนกลับมาเป็นที่รับรู้ตามฤดูกาล ดังนั้นวิธีที่รายการชัวร์ก่อนแชร์ทำ นอกจากเนื้อหาที่ถูกต้องแล้วจะใช้เรื่อง SEO เข้ามาช่วย โดยต้องมีคีย์เวิร์ดของข่าวสารเรื่องนั้นๆ มากพอที่จะสามารถค้นเจอเรื่องดังกล่าวในอนาคตได้ เพราะรู้สึกว่าข้อมูลที่ทำเสร็จในวันนี้ ไม่สามารถทำให้คนอ่านหรือรับรู้ได้พร้อมกันหมดได้ในเวลาเดียวกัน และข้อมูลจะมีค่ามากที่สุดเมื่อตอนที่ผู้รับสารต้องการเท่านั้น

"สิ่งที่สื่อควรให้ความสำคัญคือการจัดการบิ๊กดาต้า การเก็บข้อมูล การค้นคืนข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้สูงสุด ซึ่งจะเกิดแบบนี้ได้ต้องอาศัยการทำที่เยอะและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนในอนาคตมาค้นหาได้ และเอามาใช้พัฒนาต่อไป" นายพีรพล กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version