นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาการเพิ่มความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เป็นอย่างมากเพราะการคอรัปชันถือ เป็นต้นเหตุที่ทำให้การพัฒนาประเทศไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยกระทรวงการคลังในฐานะ ผู้ดูแลการเงินการคลังของประเทศตระหนักถึงความสำคัญ โดยพัฒนาการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการ ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสสูงสุด โดยในอีกหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้ากระทรวงการคลังจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาเชื่อมโยงกับ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อทำการเชื่อมข้อมูลของทุกหน่วยงาน ลดช่องว่างที่จะก่อให้เกิดการทุจริต
ส่วนผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ถึงสภาวะเศรษฐกิจ และมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เรารับฟังทุกความคิดเห็นแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมและหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมก็สามารถดำเนินการได้.
โดยในวันนี้ มีการแถลงข่าว "ผลการดำเนินงาน 5 ปี ของ IP และ CoST ต่อการป้องกันคอร์รัปชันในประเทศไทย" ซึ่งทั้งสองเครื่องมือนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีการใช้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้เกิดผลเชิงประจักษ์ ทั้งในแง่การประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนหลักแสนล้านบาท และในด้านการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่ส่งผลให้เกิดการป้องกันการทุจริตในระบบราชการ
นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศ ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ในการป้องกันการทุจริต ด้วยการใช้โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และใช้โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สำหรับโครงการที่มีงบประมาณต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ทั้งสองเครื่องมือสามารถป้องกันคอร์รัปชันได้ ดังตัวเลขการประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวน 83,138 ล้านบาท โดยมาจากการใช้โครงการ IP จำนวน 74,893 ล้านบาท คิดเป็น 30.40 % ของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการจัดหา และจากโครงการ CoST อีก 8,245 ล้านบาท หรือมีการประหยัดจากวงเงินงบประมาณ 20.53 %
ทั้งนี้ โครงการที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมหรือ IP มีจำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,798,445 ล้านบาท มีโครงการที่ได้ดำเนินการจัดหาได้แล้ว 51 โครงการ และงบประมาณของโครงการที่ดำเนินการจัดหาแล้ว 240,000 ล้านบาท มูลค่าสัญญา 170,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการก่อสร้างที่เข้าร่วม CoST มีทั้งสิ้น 253 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 110,000 ล้านบาท โดยมีการเปิดเผยข้อมูลบนระบบ CoST แล้ว 235 โครงการ และในจำนวนนั้นได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ เป็นจำนวน 220 โครงการ ในระยะต่อไป สำหรับโครงการ IP ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นั้น จะมีการขยายโครงการให้มีจำนวนมากขึ้นและครอบคลุมงานจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ขณะที่โครงการ CoST เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจึงได้ผลักดันให้ดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เช่นเดียวกับ IP โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเตรียมจัดทำประกาศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) องค์กรภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนา IP และ CoST กับกรมบัญชีกลางอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า หากนับจำนวนโครงการที่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้วคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 นี้ การประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ใช้สองเครื่องมือนี้จะสูงถึง 142,769 ล้านบาท โดยมาจากโครงการข้อตกลงคุณธรรมซึ่งจะประหยัดงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 97,013 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 27.06 % ของงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการจัดหาได้แล้ว จำนวน 358,448 ล้านบาท จำนวน 62 โครงการ นอกจากนั้น ยังมีโครงการ รฟม. (PPP) ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณเป็นเงิน 37,457 ล้านบาท
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวเลขประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สูงถึงหลักแสนล้านบาท แต่เป็นการสร้างผลทางสังคมซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด 230 คน นั้น ล้วนทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ ตามความยากความซับซ้อนของแต่ละโครงการ เมื่อเทียบกับปริมาณงานถือว่าทำงานเกินกำลัง ที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้ง IP และ CoST ทำให้ข้าราชการที่สุจริตสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม เพราะเป็นกระบวนปกป้องไม่ให้มีการใช้อิทธิพลกับข้าราชการ ย่อมเท่ากับช่วยป้องกันการทุจริตในระบบราชการ พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิผลคุณภาพโครงการ องค์กรจึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายผลด้วยการนำข้อตกลงคุณธรรรมไปใช้ในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และโครงการสัมปทานขนาดใหญ่ของรัฐ สำหรับโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจและมีความเสี่ยงเรื่องความโปร่งใส ซึ่งอาศัยพ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในการดำเนินงานในบริบทสากล IP และCoST เป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชันที่มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีองค์กรระหว่างประเทศให้การสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องนี้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย CoST International ส่วนใหญ่เป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณ