เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สอศ.มีความคาดหวังว่า นักเรียนทุนเฉลิมราชกุมารี ต้องกระทำตนเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนนักเรียน/นักศึกษา ในสถานศึกษาเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีแด่องค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงควรมีความรู้ ความสามารถในงานอาชีพ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และพึงมีจิตอาสา บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วม สังคม และประเทศชาติ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต ดังนั้น การฝึกอบรม การเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี ตลอดจน การดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งความรู้ แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเรียนจบการศึกษา มีความพร้อมในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ
โดยทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุม วันที่ 12 มกราคม 2559 อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี ระยะที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ โดยการจัดสรรทุนการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2577 ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และสามเณร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การคมนาคมยากลำบาก และมีอัตราการเรียนต่อต่ำ ได้มีโอกาสศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรี และกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดสรรทุนแก่ผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษา ปีละ 300 ทุน ซึ่งรวมผู้เรียนที่ได้รับการคัดเลือก และส่งต่อจากโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ปีละ 10 ทุน รวมทั้งสิ้น ๑๐ รุ่น จำนวน ๓,000 ทุน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2577