มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะ (Smart City) หรือเมืองที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมืองอย่างอัจฉริยะได้ เป็นเป้าหมายในศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกกำลังพยายามก้าวไปให้ถึงอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยิ่ง โดยภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปี คาดการณ์ว่าประชากรจำนวนกว่า 100 ล้านคนจาก 640 ล้านคน ในภูมิภาคจะเริ่มย้ายเข้ามาสู่เมือง (urbanisation) ซึ่งหมายถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมากขึ้นตามไปด้วย และจะมีการใช้เม็ดเงินมูลค่าประมาณ 9.9 พันล้านบาท ลงทุนในการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สนามบิน การขนส่งระบบราง ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างลวด และท่อ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาเมือง จึงเกิดโครงการ ASEAN Smart City Network (ASCN) ขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเครือข่ายของโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 26 ประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ 26 ประเทศ ทั้งนี้โครงข่าย ASCN จะมีการพัฒนาทั้งหมดใน 6 ส่วน ได้แก่ การโยธา การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง สภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรม การเดินหน้าโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อความพร้อมในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งความพยายามเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยเร็วๆ นี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน "ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019" มหกรรมรวบรวมสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตลวด เคเบิล ท่อ และท่อร้อยสายที่ครบวงจร เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงนวัตกรรมระดับสูงจาก 400 บริษัทชั้นนำ 30 ประเทศทั่วโลก มร.เกอร์นอท กล่าวสรุป
นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ ประธานสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวเสริมว่า จุดแข็งของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือการเป็นญานการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเหล็ก ลวด และท่อ ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย โดยปริมาณการผลิตเหล็กในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.5 – 7 ล้าน ตันต่อปี ซึ่งทางสมาคมได้เล็งเห็นถึงโอกาสนี้ และเตรียมผลักดันศักยภาพผู้ผลิตไทยเข้าแข่งขันในตลาดสากล ผ่านโครงการรวมกลุ่มสมาชิกเป็นคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่เข้มแข็ง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งการยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมลวดและท่อที่สำคัญคือ ปริมาณโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐในปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าระบบราง โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ซึ่งการลงทุนในโครงการดังกล่าว ส่งผลให้มีการคาดการณ์ปริมาณการใช้งานเหล็กในปี 2562 – 2563 เติบโตอยู่ที่ 17.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 10 -14% ซึ่งมากกว่าปริมาณการผลิตในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 7-8 ล้านตันต่อปี ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการยกระดับการผลิตเพื่อรองรับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่น่าจับตามองได้แก่ สงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ ที่เป็นความท้าทายให้ผู้ประกอบการไทยยกระดับคุณภาพกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อยืนหยัดท่ามกลางสถานการณ์เหล็ก ลวด ท่อ จากการทุ่มตลาดจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ การพัฒนาแรงงานฝีมือที่มีทักษะเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม และการดึงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากต่างชาติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับใช้กับธุรกิจอย่างเหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ นำไปสู่การเข้าแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีมูลค่ามหาศาล โดยในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 60% มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง นับเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องผลักดันผู้ประกอบการไทยจำนวน 40% ให้มีศักยภาพการผลิตที่พร้อมแข่งขันในตลาดสากล ซึ่งงาน "ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019" จะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการจัดงานเทรดแฟร์ครั้งยิ่งใหญ่ ให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูงจากทั่วโลก นายเกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
"ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019" มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ www.wire-southeastasia.com หรือ www.tube-southeastasia.com