จากการเก็บข้อมูลออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 402 ราย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า ผู้ที่มีรายได้ 10,001-35,000 บาทต่อเดือน กว่า 43% เป็นผู้ที่ไม่มีการถือครองอสังหาฯ และเป็นกลุ่มที่มีเงินออมอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อีกราว 40-43% ของผู้ที่มีรายได้ 10,001-35,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีการถือครองอสังหาฯ 1 ทรัพย์เท่านั้น
ส่วนกลุ่ม Gen X (อายุ 36-54 ปี) รายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการถือครองอสังหาฯมากกว่า 2 ทรัพย์ขึ้นไป ถึง 52% เมื่อมาดูรายละเอียดจะพบว่า กลุ่ม Gen Y ตอนกลาง (อายุ 26-30 ปี) กว่า 55% ซื้ออสังหาฯหลังแรกเพื่อการอยู่อาศัยเอง ส่วนกลุ่ม Gen X (อายุ 36-54 ปี) และ Baby Boomer (อายุมากกว่า 54 ปี) มีแนวโน้มการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าและเป็นสินทรัพย์ในอนาคต ถึง 55% จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 36 ปี ขึ้นไป มีการวางแผนทางการเงินด้วยการลงทุนในอสังหาฯ เพราะมองว่าเป็นการออมเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ และยังสามารถเก็บเป็นทรัพย์สินสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตไว้ให้ลูกหลานได้ด้วย
นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Gen Y ตอนกลาง (อายุ 26-30 ปี) และ Gen Y ตอนปลาย(อายุ 31-35 ปี) ยังระบุว่านิยมซื้อคอนโดมิเนียม มากถึง 57% สวนทางกับกลุ่ม Baby Boomer (อายุมากกว่า 54 ปี) ที่ยังคงซื้อคอนโดฯ ในสัดส่วน 42% แต่จะมีความนิยมซื้อทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และอาคารพาณิชย์มากกว่า ถึง 58%
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในช่วง ปี2558 -2561 อสังหาฯไทย ตลาดมีความคึกคักอย่างมาก โดยจากการจัดอันดับของ Globalpropertyguide.com พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุนในอสังหาฯอันดับ 4 ด้วย Rental Yield 5.13% สูงกว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น ขณะที่ราคาอสังหาฯของไทย ในรอบ 5 ที่ผ่านมา ราคามีการเปลี่ยนแปลงราว 16.29% ซึ่งปรับตัวน้อยกว่ามาเลเซีย ที่ราคาปรับตัวถึง 43.35% และญี่ปุ่น ปรับตัวถึง 29.85% ส่งผลให้อสังหาฯไทยมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯในไทยจำนวนมาก เห็นได้จากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมดในปี 2560 ของชาวต่างชาติสูงถึง 27% และ 1 ใน 3 ของยอดการโอนเป็นของลูกค้าชาวจีน
ซึ่งการเข้ามาซื้ออสังหาฯของชาวจีนในปี 2561 ทำให้ตลาดอสังหาฯไทยเติบโตสูง และเป็นตัวเร่งให้ราคาคอนโดฯบางทำเลดีดตัวสูงขึ้นจากปกติ แน่นอนว่าราคาที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าชาวไทยที่รายได้ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับราคาคอนโดฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 9%
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 2562 นี้ คาดว่า ตลาดอยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวจากมาตรการ LTV เร่งปรับกลยุทธ์ทำสินค้าออกมาให้ตอบโจทย์ลูกค้า และราคาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทาย โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ซึ่งจะมีผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงและอาจเกิดผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย