เอ็นไอเอดัน “ธนาคารน้ำระบบปิด” แก้วิกฤตภัยแล้ง – น้ำท่วมในชุมชน พร้อมแนะแนวทางปลดล็อกภัยธรรมชาติต้องสู้ด้วยนวัตกรรม

พุธ ๑๑ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๕:๓๙
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเทศบาลตำบลหนองมะโมง จ.ชัยนาท เปิดตัว 2 นวัตกรรม โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชนพร้อมทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค โดยนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มีจุดเด่น คือ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก น้ำสามารถไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ ยังได้แนะแนวทางในการรับมือกับภัยธรรมชาติยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น นวัตกรรมที่เป็นสิ่งก่อสร้าง การใช้ข้อมูลจาก AI และบิ๊กดาต้าเพื่อบริหารจัดการ เป็นต้น

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่า NIA ตระหนักถึงความสำคัญของการขจัดอุปสรรคความยากจนและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภัยพิบัติ สาธารณสุข การศึกษา การเกษตร ฯลฯ จึงได้มีการดำเนินโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เป้าหมายด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่อง โดยในระยะที่ 1 ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ระยะที่ 2 ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และระยะที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกชุมชน

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) สำหรับชุมชนหนองมะโมง และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง ซึ่งทั้ง 2 โครงการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชนพร้อมทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค หรือกิจกรรมอื่น เช่น การเกษตร การเป็นแหล่งศึกษาดูงานและต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ทั้งนี้ การดำเนินโครงกล่าวได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเทศบาลตำบลหนองมะโมง จ.ชัยนาท ซึ่งคาดว่าจะมีการนำโครงการดังกล่าวขยายผลสู่ชุมชนอื่นที่ประสบปัญหาเดียวกันได้ต่อไปอีกด้วย

สำหรับโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) สำหรับชุมชนหนองมะโมง เกิดจากแนวคิดหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เนื่องจาก จ.ชัยนาทเป็นพื้นที่เป็นพื้นแห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นจึงมีแนวคิดที่จะทำธนาคารน้ำเพื่อกักเก็บเพื่อแก้ไขปัญหา โดย NIA ได้เข้าไปสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวพร้อมทั้งมีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 155 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 หมู่บ้านในตำบล ทั้งนี้ ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เป็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยระบบบ่อปิดมีวิธีการทำโดยการขุดหลุม เป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม กว้าง 30 ซม.ถึง 1 เมตร ลึก 1.20-1.50 เมตร ใช้ก้อนหินและชั้นทรายวางจนเต็มก้นหลุม เพื่อให้ได้น้ำที่ใสสะอาด แตกต่างจากการใช้ขวดหรือยางรถยนต์เป็นตัวกรองในชุมชนอื่น การขุดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากและไม่ต้องเปิดหน้าดินเป็นวงกว้าง ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยา และด้านภูมิศาสตร์เพื่อหาจุดลุ่มต่ำ หรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อทำให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ทั้งนี้ รูปแบบการทำธนาคารน้ำแบบปิดมีข้อดีคือสามารถทำให้น้ำไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็วมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝนนั้นความสามารถของธนาคารน้ำคือสามารถรีชาร์ตน้ำลงบ่อได้รวดเร็ว ลดการท่วมขังในพื้นที่ ส่วนหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ได้ นอกจากนี้การทำธนาคารยังช่วยทำให้ดินชุ่มน้ำและอุ้มน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณที่ทำธนาคารเกิดตาน้ำ (ทางน้ำเล็กๆที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) และหลังจากนั้นประชาชนก็จะสามารถขุดน้ำบาดาล และน้ำประปาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนโครงการ การบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง เป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการออกแบบและวางแผนระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ (geodatabase) เช่น ข้อมูลการตรวจวัดทางสถิติด้านทรัพยากรแหล่งน้ำ แผนผังการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ เพื่อวางแผนและออกแบบการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินที่สามารถจัดสรรการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรแหล่งน้ำในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำในชุมชน โดยศึกษาทั้งข้อมูลทางด้านกายภาพ ได้แก่ สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ชุมชน สภาพทางธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ขอบเขตลุ่มน้ำ/ทางน้ำ ระดับน้ำและทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน ศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ข้อมูลพื้นที่ประสบปัญหาด้านภัยแล้ง/น้ำท่วม และจัดทำเป็นแผนที่แสดงข้อมูลด้านต่างๆ ในมาตราส่วนที่มีความเหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเตรียมรับมือกับสภาพปัญหาด้านน้ำในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการติดตามตรวจวัดค่าข้อมูลในเชิงสถิติทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อนำมาประเมินผล ความคุ้มทุน/คุ้มค่า/ผลประโยชน์ ต่อชุมชน และเสนอเป็นแผนงานการบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในกับชุมชนและท้องถิ่นต่อไป

นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัย และภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น มักเป็นเพียงแค่การพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หลายสภาวะยังไม่มีรูปแบบ แนวทาง หรือมาตรการในการรับมือและจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืนนั้นจำเป็นจะต้องมีการวางแผนแนวทางหรือประยุกต์ใช้เครื่องมือที่สามารถป้องกันและบรรเทาที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เป็นสิ่งก่อสร้าง โดยเป็นการออกแบบโครงสร้างของถาวรวัตถุ เช่น บ้านเรือน อาคารสำนักงานให้มีความแข็งแกร่ง สามารถป้องกันสภาวะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้นวัตกรรมวัสดุเทคโนโลยี และแนวคิดการออกแบบใหม่ ๆ การใช้ข้อมูล AI หรือบิ๊กดาต้า ที่สามารถรายงานสถานะได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน โดยจะช่วยให้ง่ายต่อการเตือนภัย และการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า พร้อมทำให้รู้แนวทางการบริหารจัดการทั้งก่อนและหลังการเกิดสภาวะต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของสภาวะทางธรรมชาติ ความรุนแรงของสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การใช้หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนการทำงานมนุษย์ เพื่อใช้ปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน หรือในส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถกระทำได้ รวมถึงเทคโนโลยีในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางระบบชลประทาน ระบบคมนาคม เพื่อให้การบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านนายชูชีพ สุพบุตร นายกเทศบาลตำบลหนองมะโมง กล่าวว่า แต่เดิมชุมชนหนองมะโมงมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี การนนำนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มาใช้ช่วยให้ชุมชนไม่ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำได้อย่างเด็ดขาดและเป็นรูปธรรม ชาวบ้านสามารถนำน้ำมาใช้ได้ตลอดทั้งปีแม้อยู่ในฤดูที่ฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้ ยังทำให้ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากความสามารถของการอุ้มน้ำของพื้นดินที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ พื้นที่ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้มีการเข้ามาศึกษาดูงานพร้อมนำโมเดลนี้ไปใช้แก้ไขปัญหาตามที่ชุมชนนั้น ๆ กำลังเผชิญ โดยในการพัฒนานวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินยังมีคุณประโยชน์ในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดอัตราการระเหยของน้ำ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า และยังช่วยลดความเสียหายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การกัดเซาะของถนน หรือป้องกันถนนขาดเมื่อมีฝนตกหนักได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th, facebook.com/NIAThailand

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version