"ได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการพัฒนาให้ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มั่นคงในการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้สนใจทั่วไป หากเกษตรต้องการปลูกส้มโอ เมื่อเข้ามาที่นี่ก็จะได้ทราบวิธีการปลูกส้มโอที่ทำให้ได้ผลผลิตดี ต้องใช้ปุ๋ยชนิดใด หรือต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกเท่าไหร่ ซึ่งเกษตรบางคนอาจจะเคยปลูก แต่ที่ผ่านอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้ เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีเลิศ มีอากาศบริสุทธิ์ มีสภาพดิน น้ำ ลม ไฟ ที่สะอาดและบริสุทธื์ อีกทั้งมีโรงเรือนพืชสมุนไพร ที่สามารถนำผลผลิตส่งต่อให้โรงพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งออกไปยังที่อื่นๆได้" นางสาวมนัญญา กล่าว
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ไปเยี่ยมชมที่ตั้งพื้นที่ของโครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานการผลิตกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ (แผนงานวิจัยปี 2564) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย บนเนื้อที่ 104 ไร่ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการของบประมาณในการสร้าง โดยจะมีการปลูกพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ทั้งกัญชา กัญชง พริกไทย ขมิ้น รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆ ทั้งในพื้นที่โล่ง และในโรงเรือนแบบปิด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเข้าไปส่งเสริมทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
สำหรับศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย เริ่มก่อตั้งในปี 2515 ปัจจุบันสังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่ 1,900 ไร่ มีภารกิจในการวิจัยและขยายพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร โดยในปี 2562 ได้ดำเนินการทดลอง 56 เรื่อง แยกเป็นรายพืช ได้แก่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักและเห็ด พืชสมุนไพร พืชอุตสาหกรรม และระบบการผลิตพืชและโรงเรือนอัจฉริยะ โดยมีการปลูกไม้ผล ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย ส้มโอ เงาะ สับปะรด มะคาเดเมีย รวมทั้งปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีการปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ อาทิ กล้วยไม้ดิน ปทุมมา กระเจียว มีแปลงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยพัฒนาต่างๆ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตถั่วลันเตา โครงการพัฒนาการจัดการคุณภาพพืชสมุนไพร และโครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานการผลิตกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแผนงานวิจัยใน ปี 2564 เป็นต้น