นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 มั่นใจ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย ตื่นตัวพัฒนา พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

อังคาร ๑๗ กันยายน ๒๐๑๙ ๐๙:๓๔
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 (The Prime Minister's Industry Award 2019) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเป็นปีที่ 27 โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ข้าราชการ และผู้ประกอบการธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมร่วมงานกว่า 600 คน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพและความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 68 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 46 รางวัล และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น 21 รางวัล พร้อมรางวัลชมเชย 12 รางวัล

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 พร้อมเน้นย้ำว่าภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย คือศักยภาพ ความเข้มแข็ง และคุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ให้การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพากเพียรในการพัฒนาธุรกิจให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงมีความใส่ใจต่อผู้บริโภค ช่วยกันดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ปราศจากมลภาวะ ทั้งนี้ นอกจากเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ภาคอุตสาหกรรมดำเนินตามนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมแล้วยังส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการในแง่การลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

"รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve เพื่อส่งเสริมการทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยสู่สากล การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และชุมชน โดยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในพื้นที่ระดับภาค ส่วนในภาคการผลิตรัฐบาลได้มุ่งเน้นยกระดับสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และการบูรณาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบครบวงจร ตลอดจนการส่งเสริม การลงทุนในพื้นที่ การเชื่อมโยงและพัฒนาระบบฐานข้อมูล หรือ BIG DATA สู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งด้านการอนุมัติ อนุญาต การทำธุรกิจ การบริการ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงลึกให้รองรับกับระบบงานในโลกดิจิทัลยิ่งขึ้น"

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและตระหนักถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้รับนโยบายสำคัญจากรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการยกระดับความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ได้ออกมาตรการเชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่องด้วยการส่งเสริม สนับสนุน จูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในการเข้าถึงและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งเร่งสร้างทักษะ ปรับปรุง และพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้การมอบรางวัลอุตสาหกรรม นับเป็นกิจกรรมหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันระดับสากลอีกด้วย สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีผู้ประกอบการได้รับรางวัลรวม 68 ราย จากผู้สมัครทั่วประเทศ 222 ราย ประกอบด้วย

1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และเครื่องล้างจาน ซึ่งการันตีคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจด้วยรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นถึง 6 รางวัล ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการบริหารความปลอดภัยในปี 2561 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการเพิ่มผลผลิตในปี 2560 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ในปี 2559 และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการบริหารคุณภาพ ในปี 2546, 2554 และ 2557

รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม เป็นการพิจารณาตัดสินจากผู้ที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ประเภทรางวัล โดยจะพิจารณาตัดสินรางวัลอันทรงเกียรตินี้เพียงปีละ 1 รายเท่านั้น ซึ่งในปีนี้มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งตัวนำชนิดต่างๆ (Semiconductor Devices), บริษัท จีซี ไกลคอล จำกัด ผู้ผลิตเอทธิลีน ออกไซด์ และเอทธิลีนไกลคอล, บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียง มือถือและกล้องถ่ายภาพ, บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสดและนมยูเอชที และบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 46 รางวัล แบ่งออกเป็น 8 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทการเพิ่มผลผลิต จำนวน 4 รางวัล, ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 รางวัล, ประเภทการบริหารความปลอดภัย จำนวน 3 รางวัล, ประเภท การบริหารงานคุณภาพ จำนวน 9 รางวัล, ประเภทการจัดการพลังงาน จำนวน 3 รางวัล, ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จำนวน 2 รางวัล, ประเภทอุตสาหกรรมศักยภาพ จำนวน 14 รางวัล, และประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 10 รางวัล

3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 21 รางวัล แบ่งออกเป็น 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทการบริหารจัดการ จำนวน 3 รางวัล, ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ จำนวน 9 รางวัล,ประเภทการจัดการเทคโนโลยี เชิงนวัตกรรม จำนวน 4 รางวัล และประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล จำนวน 5 รางวัล

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณามอบรางวัลชมเชย ให้กับผู้ประกอบการในส่วนของรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและ ขนาดย่อมดีเด่น อีกจำนวน 12 รางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจต่อไป

"การมอบรางวัลอุตสาหกรรมเป็นการพิจาณาคัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับจากทั่วประเทศ โดยรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมจะได้รับโล่เกียรติยศ ธง ป้ายโลหะ และเกียรติบัตร รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นและรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่นจะได้รับโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตร สำหรับโล่เกียรติยศประกอบด้วยสัญลักษณ์สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ โลหะทองกลมสัญลักษณ์นารายณ์เกษียรสมุทร รูปใบไม้สัญลักษณ์โลหะ และฐานใบไม้รูปฟันเฟือง เพื่อสื่อถึงอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานและก้าวไปสู่ระดับความเป็นสากล โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในระดับสากล มีคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยในการทำงานโดยไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า โดยโล่เกียรติยศมี 2 แบบ ได้แก่ โล่สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม รูปใบไม้และฐานรางวัลจะเป็นสีทองอร่าม ส่วนโล่รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นและรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น รูปใบไม้เป็น สีเงินส่วนฐานเป็นสีเขียวใบไม้ ซึ่งสง่างามโดดเด่นสมกับเป็นรางวัลสูงสุดระดับประเทศของภาคอุตสาหกรรม" นายสุริยะ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ