นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า ภาคการเกษตรของไทยนั้น จะต้องพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพ ความรู้และทักษะที่จะสามารถนำไปประกอบอาชีพเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนรัฐบาลจึงมีนโยบายในการปฏิรูปการเกษตร สู่การทำเกษตรแบบ 4.0 เพื่อให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าง ทั้งจังมีแรงกดดันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทีความรุนแรงมากขึ้น และความเสี่ยงจาก Disruptive Technology กระทรวงเกษตรฯจึงมีนโยบายพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีความปราดเปรื่อง (Smart Farmer) มีความรอบรู้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดี ที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการจะสนับสนุน ต่อยอดความรู้ ทักษะเกษตรไทยได้ดีนั้น ย่อมต้องมีองค์ความรู้การศึกษาวิจัยที่รอบด้าน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ทั้งนี้ การจัดงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งปีนี้ สวก. ได้คัดสรรโครงการวิจัยภายใต้ธีมงาน "Beyond Disruptive Technology" มาจัดแสดงกว่า 200 โครงการ เช่น 1) โครงการการพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการจัดทำแผนที่ใต้ดินสำหรับการเกษตร ผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกรัฐ บุญภูงา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นการพัฒนาระบบเรดาร์ สำหรับการสร้างแผนที่ใต้พื้นดิน ซึ่งแผนที่นี้จะมีข้อมูลชั้นดินและสิ่งที่อยู่ใต้ดินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจบริหารจัดการทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของภาครัฐ 2) เครื่องวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในทะลายปาล์มน้ำมันอย่างรวดเร็วเพื่อการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ด้วยเทคนิค Near Infrared (NIR) ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการสร้างระบบและวิธีการในการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในปาล์มน้ำมัน ด้วยเทคนิค NIR เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์หาปริมาณน้ำมันในผลปาล์มและทะลายปาล์มอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายตัวอย่าง ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการซื้อขายปาล์มจากการประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญ หรือการประเมินด้วยวิธีมาตรฐานที่ต้องใช้สารเคมี และใช้เวลาในการสกัดน้ำมันค่อนข้างนาน เป็นต้น ซึ่งจาก 2 โครงกาที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของประเทศไทย และยังมีผลงานวิจัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ในงานประชุมวิชาการ สวก. 2562
ด้าน ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. ได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการ สวก. 2562 ขึ้น มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อเพิ่มพูนความรู้และวิสัยทัศน์ให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ เรื่องทิศทางงานวิจัยด้านการเกษตรของไทยและของต่างประเทศ 2) เพื่อประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลแก่นักวิจัยที่ได้รับทุนจาก สวก. ที่ไปได้รับรางวัลและการยอมรับในระดับนานาชาติ นักวิจัยการเกษตรดีเด่นของ สวก. ในแต่ละคลัสเตอร์ และผู้ประกอบการดีเด่น 3) เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นในแต่ละคลัสเตอร์ด้านการเกษตรของประเทศ 4) เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานภาพรวมทั้งหมดของ สวก. และ 5) เพื่อบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยทางด้านการเกษตรในประเทศไทยกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัย นักวิชาการ ทั้งที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเกษตร