นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในเฟสแรกของการพิจารณาคัดเลือกโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) มีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) จำนวน 34 โครงการ จากการยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการ
"โครงการ ERC Sandbox ที่เปิดรับยื่นข้อเสนอเป็นครั้งแรกได้รับความสนใจมากจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการพลังงานชั้นนำภาครัฐ และเอกชน สถาบันอุดมศึกษา แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการที่จะรับมือ และใช้ประโยชน์จาก Technology Disruptive ซึ่งในส่วนของ สำนักงาน กกพ.เอง ก็จะใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทบทวนและยกระดับกระบวนการกำกับดูแลในความรับผิดชอบเพื่อให้ภาคพลังงานพัฒนาได้อย่างดี และมีเสถียรภาพ" นางสาวนฤภัทร กล่าว
ทั้งนี้โครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรม 3 อันดับแรก คือโครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) สูงสุดจำนวน 9 ราย รองลงมาคือ โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย ตามลำดับ
นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า ในจำนวนผู้ยื่นโครงการทดสอบนวัตกรรมฯ มีผู้ยื่นโครงการ Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading สูงถึง 137 ราย จากทั้งหมด 183 ราย รวมไปถึงการยื่นโครงการที่เกี่ยวเนื่องได้แก่ โครงการ Microgrid โครงการ Battery Storage ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มีความต้องการส่งผลให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ และต้องการให้มีการเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งสำนักงาน กกพ. ยังคงต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ที่เหมาะสม ทั้งในแง่ระยะเวลา และปริมาณการแข่งขันประกอบด้วย
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังพบว่าแนวโน้มของราคาเทคโนโลยีของระบบ Battery Storage ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะเป็นโอกาส และจังหวะที่ดีในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาในประเทศและได้มีการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องในรอบนี้ถึง 9 โครงการ จากที่ยื่นมาทั้งหมด 11 โครงการ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของการสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน หรือ Thailand Energy Hub ของรัฐบาล และแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ยังได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการสนับสนุนธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในไทย และยังคาดว่าจะส่งผลดีต่อราคา
ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถูกลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่อไปโครงการที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับ สำนักงาน กกพ. จนได้ข้อสรุปจึงจะมีการลงนามในหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการระหว่างกันและคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 34 โครงการ ภายในสิ้นปี 2562
เกี่ยวกับ กกพ.
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต