ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้ออกประกาศ เรื่องการรับนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษ ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ พิจารณา 4 ข้อ คือ 1) ข้อตกลง ในการจัดตั้งโรงเรียน 2) บุตรข้าราชการครูและบุคลากรปัจจุบันของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและโรงเรียนอนุบาลสามเสน (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) 3) นักเรียนในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง และ 4) นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย
ก่อนมีการประกาศผลการสอบคัดเลือก ประจำปีการศึกษา 2560 ผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนหนึ่ง ได้แสดงความจำนงต่อสำนักงานผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ให้พิจารณารับบุตรหลานของตนเข้าเป็นนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษ ประเภทนักเรียนในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียน โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ก่อนการประกาศผล การสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประเภทเงื่อนไขพิเศษ ประจำปีการศึกษา 2560 นายวิโรฒ สำรวล กับพวก ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้ปกครองของนักเรียนที่ยื่นแสดงความจำนงไว้ เพื่อขอคำยืนยัน เรื่องการบริจาคเงิน ให้โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยหลายราย หลังจากนั้นในวันที่ 5 เมษายน 2560 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้ประกาศ ผลการสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2560 โดยมีรายชื่อนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษ จำนวน 60 ราย หลังจากนั้น ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประเภทเงื่อนไขพิเศษ จำนวน 6 ราย ได้นำเงินมาบริจาคให้กับโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยนายวิโรฒ สำรวล
และนายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ร่วมกันรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองของนักเรียน จำนวน 6 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,440,000 บาท แล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 สื่อมวลชนได้เสนอข่าว เรื่องผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองของนักเรียนรายหนึ่ง จำนวน 400,000 บาท เพื่อให้บุตรของตนได้มีโอกาสได้เข้าเรียน โดยมีคลิปวิดีโอภาพและเสียงประกอบการเสนอข่าว หลังจากนั้นใน วันที่ 20 มิถุนายน 2560 นายวิโรฒ สำรวล จึงได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยยอมรับว่าตน เป็นบุคคลที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงิน 400,000 บาท ตามที่เป็นข่าว และภายในวันเดียวกัน นายวิโรฒ สำรวล นายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ และนายประเจิน โชติพงศ์กุล ครูชำนาญการพิเศษ (หัวหน้างานรับนักเรียน โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย) ได้ร่วมกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ฝ่ายบริหารงานบุคคลการเงินและสินทรัพย์ 1 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ออกใบเสร็จรับเงินว่าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้รับเงินบริจาค โดยให้ลงวันที่ย้อนหลัง แต่เจ้าหน้าที่การเงินฯ แจ้งว่าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินโดยลงวันที่ย้อนหลังได้ บุคคลทั้งสามจึงได้ร่วมกันสั่งให้เจ้าหน้าที่การเงินฯ ออกใบเสร็จรับเงิน โดยสั่งให้ลงวันที่ในใบเสร็จรับเงินเป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2560 แล้วนำเงินสดบางส่วนเข้าฝากธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงการคลัง ตามรหัสศูนย์ต้นทุนของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ผ่านระบบ GFMIS โดยมีเจตนาเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายวิโรฒ สำรวล กับพวก มีมูลความผิด ดังนี้
1. นายวิโรฒ สำรวล และนายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ กรณีรับเงินบริจาคโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน แล้วเบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต แล้วข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงินฯ ออกใบเสร็จรับเงินและนำเงินส่งคืนภายหลังเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน.มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
2. นายประเจิน โชติพงศ์กุล กรณีร่วมกันข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงินฯ ออกใบเสร็จรับเงิน เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลอื่น มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ. 2547