การผลิตพยาบาลเพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐและความต้องการของประชาชน เป็นภารกิจสำคัญของสถาบันพระบรมราชชนกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตพยาบาล ปัจจุบันสถาบันฯ มีวิทยาลัยพยาบาลจำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ โดยได้จัดสรรทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและดำเนินวิชาชีพพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค โดยดำเนินโครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่มีภูมิลำเนาในชนบทและขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาวิชาชีพพยาบาลและได้ปฏิบัติงานในในชุมชนท้องถิ่นของตนภายหลังสำเร็จการศึกษา
"การที่จะผลิตบุคลากรให้เพียงพอต้องได้รับการสนับสนุนหลายด้าน เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง ได้เข้ามามีส่วนในการดูแลชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งการที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่มีจิตใจสนับสนุนกิจการสาธารณสุข เช่น จีเอสเค มาร่วมมือกันในการผลิตบุคลากร ช่วยสนับสนุนและจัดให้มีโครงการทุนพยาบาลแก่เยาวชน มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ดูแลบริการสาธารณสุขชุมชน ให้ความรู้สุขอนามัยต่างๆ ทำให้การดูแลชุมชนดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์และช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวและเสริมว่า
"กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักแต่ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่ทำงานด้านสาธารณสุข หากแต่เป็นความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพดี ตามแนวทางสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้รับการดูแลที่ดี"
สำหรับภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการมีสุขภาพดีของคนไทย นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (จีเอสเค) กล่าวว่า ตลอด 55 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จีเอสเค มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้นโยบายสุขภาพดีเข้าถึงได้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการดำเนินโครงการทุนการศึกษา "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพของประชาชนในถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
"นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่โครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ได้ช่วยบรรเทาปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการขาดแคลนพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ โครงการยังช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาที่ด้อยโอกาสสามารถศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสามารถประกอบวิชาชีพพยาบาลตามความตั้งใจ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและระบบสาธารณสุขของไทยต่อไป"
ปัจจุบันโครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน มีนักเรียนทุนจำนวน 20 รุ่น รวม 760 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 16 รุ่น และได้ทำงานที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 641 คน
นางเกศินี การสมพจน์ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการทุนการศึกษาจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา กล่าวว่า "การให้ทุนฯ จะพิจารณาความพร้อมของครอบครัว ความสามารถในการเรียน และความมุ่งมั่นที่จะเป็นพยาบาลเพื่อทำงานรับใช้พี่น้องในชุมชน วิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้างพยาบาลที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ นักศึกษาทุกคนจึงมีทั้งความสามารถด้านวิชาการ เป็นคนดี มีจิตใจเข้มแข็ง มีความเสียสละ และมีหัวใจบริการ คือ เขาจะรัก เข้าใจ ให้เกียรติ และดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดีเสมือนเป็นญาติของตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการเป็นพยาบาลที่ดีที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนไข้"
นางสาวจินดา แซ่หาญ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา กล่าวว่า เธอเป็นคน อ.เทิง จ.เชียงราย ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม ทุนจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว เธอคิดว่า พยาบาลเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มาก แม้ว่าจะเรียนหนักและยาก แต่เธอก็ไม่ย่อท้อและจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพราะรักอาชีพนี้ โดยตั้งใจว่า เมื่อเรียนจบจะกลับไปทำงานที่สถานพยาบาลในชุมชนเพื่อดูแลพ่อแม่และคนในชุมชนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ด้าน นางสาวณัฐวรรณ วงศ์หงษ์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ อดีตผู้ได้รับทุนจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน กล่าวว่า "อาชีพพยาบาลต้องใช้สติ ความอดทน และความเสียสละอย่างสูง ซึ่งอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา ได้ปลูกฝังพวกเราเสมอว่า ให้บริการผู้ป่วยประดุจเขาเป็นญาติของเรา ทำให้เรามีความมุ่งมั่นและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว พยาบาลยังเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ญาติของผู้ป่วยด้วย ในอนาคตคิดว่าจะกลับไปทำงานที่ชุมชนบ้านเกิดเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน แนะนำพวกเขาดูแลสุขภาพให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย และมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องโรคภัยต่างๆ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา"
ประชาชนจะสามารถเข้าถึงสุขภาพดีได้ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนความทุ่มเทและเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด