สสว. ขานรับนโยบายส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับ MSMEs

อังคาร ๒๔ กันยายน ๒๐๑๙ ๑๑:๕๓
สสว.ร่วมสานพลัง ส่งเสริมธุรกิจรายย่อย (MSMEs) ผลักดันการใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) เผยว่า สืบเนื่องจากการจัดงานประชุมวิชาการหัวข้อ "ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities" เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้แทนจากประเทศสมาชิก G20 เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อส่งเสริมการใช้ดิจิทัล และแนวทางในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการ MSMEs ในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องเผชิญกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) นั้น

ผอ.สสว. เผยอีกว่า การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย หรือที่เรียกว่า MSME ถือเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ การส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือรัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยการใช้ระบบพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูล และแหล่งเงินทุน ผลักดันให้เกิดการพัฒนา MSME อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

"ประเทศในประชาคมอาเซียนมีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่ง กล่าวคือ มีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เป็นจำนวนรวมกันมากกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนวิสาหกิจที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ ในส่วนของประเทศไทย มีผู้ประกอบการ MSME จำนวน 3 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณ 14 ล้านคน โดย MSME เหล่านี้มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูง ในขณะนี้มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 43 ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ต่อปี แสดงถึงบทบาทของ MSME ต่อเศรษฐกิจประเทศที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

นายสุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทย ภายใต้หัวข้อหลัก คือ การส่งเสริมกาใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (Digitalization of ASEAN Micro Enterprises) ร่วมกับคณะกรรมการอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ และจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน เพื่อแนะแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบาย สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจรายย่อยในการเข้าถึงแหล่งเงิน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่คาดว่ามีประมาณ 66.83 ล้านรายทั่วอาเซียน เข้าสู่ระบบ ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 117 ล้านคนทั่วทั้งอาเซียน และการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดย สสว. จะได้เสนอเอกสารนี้ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting: AEM) ให้การรับรอง และเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562

สำหรับการจัดงาน "ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ให้แก่ผู้ประกอบการ MSMEs ในอาเซียนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยภายในงานมีการเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนภายใต้ 4 หัวข้อหลัก ดังต่อไปนี้

1. Advancing MSMEs 4.0 with Digital Transformation แนวทางในการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ

2. Enhancing Capability for MSMEs through Public - Private Partnership ความคิดเห็นจากตัวแทนทางภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งวิธีการสนับสนุนทางด้านข้อมูลและให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงตลาดและการเงินให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3. Financial Inclusion for MSMEs มุ่งเน้นไปที่การสร้างตระหนักรู้ในประเด็นปัญหา และอุปสรรคที่ผู้ประกอบการ MSMEs ต้องเผชิญในประเด็นการเข้าถึงตลาดและการเงินจากแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันทางการเงิน

4. Digitalization of Ecosystem for Financial Inclusion การเสวนาเกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับการเข้าถึงการเงินทั้งในรูปแบบดั้งเดิม ร่วมสมัย และดิจิทัล

นอกจากนี้ การจัดงานประชุมดังกล่าว ยังสอดรับกับข้อเสนอของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะประธานอาเซียนที่จะขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ G20 อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสานต่อแนวคิด ASEAN Outlook on the Indo-Pacific โดยหนึ่งในประเด็นที่เสนอได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับ G20 ในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมให้แก่ชุมชนห่างไกล สตรี เยาวชน และผู้ประกอบการ start up อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ