ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของ PwC เตือนว่า หากไม่หันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็จะไร้ประสิทธิภาพ
การเพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) กำลังผลาญงบประมาณด้านสุขภาพทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจน รวมถึงกดถ่วงพลังของการแพทย์แผนปัจจุบันในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร รายงานฉบับใหม่ของ PwC ในหัวข้อ "Action required: The urgency of addressing social determinants of health" ได้เผยให้เห็นว่าเพราะเหตุใดผู้ที่อยู่ในแวดวงสุขภาพจึงต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้
ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ ซึ่งก็คือปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในที่ที่เราอยู่อาศัยและทำงาน เช่น ความโดดเดี่ยวทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มลพิษ และการขาดแคลนอาหาร เป็นต้น กำลังกดดันให้ผู้คนมากมายทั่วโลกมีทางเลือกสุขภาพที่จำกัด และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ไม่ควรมองข้าม PwC คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 หลายประเทศจะมีคนเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมากกว่า 68% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ดังนั้น การลงทุนยกระดับปัจจัยทางสังคมเพื่อช่วยให้ผู้คนมีที่อยู่อาศัย ได้ออกกำลังกาย มีสุขภาพจิตที่ดี และมีความสามารถในการจ่ายค่ารักษา จะช่วยให้รัฐบาลและระบบสุขภาพสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวและยกระดับการดูแลรักษาสุขภาพ
เคลลี่ บาร์นส์ ประธานฝ่ายอุตสาหกรรมสุขภาพสากลและในสหรัฐอเมริกาของ PwC กล่าวว่า "การแพทย์ที่ทันสมัยจะไร้ประสิทธิภาพหากคนเราไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมและเข้าถึงทรัพยากรที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี รัฐบาลและหน่วยงานสุขภาพไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าไม่ยอมลงทุนด้านปัจจัยทางสังคมก็จะต้องเสียเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สถานะสุขภาพก็ย่ำแย่ลง"
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานสุขภาพควรแทรกแซงปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันหรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน
PwC นำเสนอ 5 ขั้นตอนในการยกระดับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ ดังนี้
1. สร้างปณิธานร่วมกัน: ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ โดยผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของสถาบันวิจัยสุขภาพ (HRI) ของ PwC เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ระบุว่า มีเพียง 43% ที่เผยว่าแพทย์เคยกล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนบุคลากรอื่นๆ เช่น พยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวน้อยยิ่งกว่า ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องประสานความร่วมมือให้มากกว่านี้ โดยการประชุมสามารถดึงทุกฝ่ายมารวมตัวกัน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวของการป้องกันการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น
2. พัฒนากรอบการทำงานเพื่อให้ทุกฝ่ายมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน: เมื่อทำงานอย่างหนักจนประสานความร่วมมือกันเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายต้องก้าวข้ามความท้าทายในการผสานการทำงานที่มีภารกิจ แรงจูงใจ และมุมมองแตกต่างกันอย่างมาก เพราะผู้บริโภคคาดหวังการบูรณาการทางการรักษาที่ดีกว่านี้เพื่อการรักษาที่ราบรื่น โดยผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของ HRI ระบุว่า ผู้บริโภคราวหนึ่งในสามคิดว่าบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมมีโอกาสบูรณาการเข้าด้วยกันได้ดีกว่านี้
3. สร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อช่วยในการตัดสินใจ: การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) สามารถนำมาใช้พิจารณาพฤติกรรมของบุคคลและพฤติกรรมของประชากร ในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองต้องมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ แต่ผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของ HRI เผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 47% ระบุว่า แพทย์ไม่เคยบอกว่าผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ใดบ้างในอนาคตเมื่อพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ ดังนั้น แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกมีแรงผลักดันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ แต่ก็ยังขาดข้อมูลหรือเครื่องมือในการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ
4. มีส่วนร่วมกับชุมชนและสะท้อนความคิดของชุมชน: กลยุทธ์การยกระดับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพต้องมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและการทำงานของผู้คน ผลสำรวจผู้บริโภคทั่วโลกของ HRI เผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 56% ใช้หรือตั้งใจว่าจะใช้สมาร์ทโฟนส่งเสริมสุขภาพของตนเอง อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อถูกนำมาใช้และได้รับความไว้วางใจจากคนที่ตั้งใจจะใช้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผู้ค้าปลีก ผู้ดูแลผู้ป่วยในบ้าน และผู้ให้การศึกษา สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยช่องทางใหม่นี้
5. วัดผลและพัฒนาให้ดีกว่าเดิม: ในเวสเทิร์น ซิดนีย์ กลุ่มความร่วมมือกลุ่มหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อป้องกันโรคเบาหวานในชุมชน ได้กำหนดเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ เช่น การลดน้ำหนักและระดับ HbA1C ของคนในชุมชน ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาแดชบอร์ดเพื่อวัดผลว่ามาตรการใดได้ผลและติดตามแนวโน้มค่าใช้จ่าย จากนั้นทำรายงานสรุปสิ้นปีและวางแผนสำหรับปีต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยยกระดับกลยุทธ์การดำเนินงานและการลงทุนให้ดีขึ้น
เคลลี่ บาร์นส์ จาก PwC กล่าวว่า "บรรดาผู้นำในการยกระดับปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพต้องสร้างกลุ่มความร่วมมือ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย รวมถึงระบุว่าการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ในด้านใดที่จะส่งผลมากที่สุดต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คน เราไม่ควรมองข้ามผลกระทบอันยิ่งใหญ่ของความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เพราะไม่เพียงมีผลต่อระบบสุขภาพและรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมอบชีวิตที่มีสุขภาพดีให้แก่ผู้คนทั่วโลกในวงกว้างมากขึ้นด้วย"
ดาวน์โหลดรายงานฉบับใหม่ของ PwC ในหัวข้อ "Action required: The urgency of addressing social determinants of health" ได้ที่ http://pwc.com/sdoh
เกี่ยวกับ PwC
PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 158 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 236,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการด้านการประกันภัย การให้คำปรึกษา และภาษี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com
PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure (C) 2562 PwC สงวนลิขสิทธิ์