นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ผลงานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล หรือ ECO sticker ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 สาขาบริการภาครัฐในประเภทพัฒนาการบริการ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลแรกของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรางวัลดังกล่าวเพื่อเชิดชูหน่วยงานรัฐที่มีแนวความคิดริเริ่มใหม่ ๆ มาพัฒนาระบบการให้บริการที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ โดยผลงานระบบ ECO Sticker ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐเป็นครั้งแรกในปีนี้ จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนและระบบการบริหารของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง
นายพสุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงได้มอบหมายให้ สศอ. เป็นหน่วยงานหลักในการออกแบบและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการขออนุมัติ ECO Sticker ผ่านทางระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรรถยนต์จากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยระบบ ECO Sticker ได้เปิดให้บริการมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี และได้มีการอนุมัติ ECO Sticker ไปมากกว่า 8,600 ป้าย โดยการประเมินผลการดำเนินงานปรากฏว่า ระบบ ECO Sticker ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ประกอบการยานยนต์ไทย เพราะเกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส สามารถเข้าใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกสถานที่ สอดคล้องกับนโยบายการให้บริการของภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Digital Government)
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เกิดจากการบูรณาการการทำงานและการใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้องร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สศอ. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยทดสอบรถยนต์ (Technical Service) ที่มีสำนักงานกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดย สศอ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการขออนุมัติ ECO Sticker บน Cloud Based Application และโฮส (Host) อยู่บนโครงข่ายหลักของระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 27001 : 2005 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท อินเทอร์เน็ตไทย จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาระบบการขออนุมัติ ECO Sticker ทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และพัฒนาเว็บไซต์ www.car.go.th เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ECO Sticker ของรถยนต์ทุกรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสมรรถนะของรถยนต์ในด้าน "สะอาด ประหยัด ปลอดภัย" นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนเครื่องมือสื่อสาร (Mobile Application) เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย Car Search Application สำหรับการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลรถยนต์ทุกรุ่นที่จำหน่ายในประเทศ และ Fuel Tracker Application สำหรับการวิเคราะห์อัตราการใช้น้ำมันจริงของรถยนต์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันอีกด้วย
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ระบบ ECO Sticker ของรถยนต์ ถือเป็นการพลิกโฉมระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างราชการและภาคอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) โดย สศอ. ได้นำระบบดังกล่าวไปเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาระบบ ECO Sticker ของรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถยนต์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะในด้านการมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาต่อไป
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สศอ. และหน่วยงานภายในกระทรวงอุตฯ มีนโยบายและความมุ่งมั่นชัดเจนในการยกระดับการทำงานไปสู่รัฐบาลดิจิทัลในยุค 4.0 หรือ Government 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการรับบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงอุตฯ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดของทุกหน่วยงาน ผ่านระบบ i-Industry ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดตัวแพลตฟอร์มการปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ Industrial Transformation Platform (ITP) เพื่อเป็นระบบนิเวศน์ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา