"ในส่วนของพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย 2 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วม ให้เน้นการดูแลด้านการดำรงชีพ โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมถึงดูแลระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โครงสร้างพื้นฐานให้สามารถใช้การได้ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งด้านสุขภาพ สุขอนามัย สภาพจิตใจ และความปลอดภัย ส่วนบางอำเภอที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจความเสียหาย โดยระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว" นายชยพลกล่าว
นายชยพล กล่าวถึงการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีสถานการณ์อุทกภัย ว่า บกปภ.ช.ได้กำชับให้ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพื่อเร่งผลักดันน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการดูแลและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดย บกปภ.ช. ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด