WWF ผนึก องค์กรรัฐร่วมต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ศุกร์ ๒๗ กันยายน ๒๐๑๙ ๐๙:๓๓
เมื่อวันที่ 18-20 กันยายน ที่ผ่านมา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จัดการอบรมคณะทำงานระดับจังหวัด ด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมาย ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้และศักยภาพของคณะทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมาย ทั้งด้านเทคนิคการจับกุม การสืบสวนสอบสวน การจำแนกชนิดพันธุ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่า

การอบรมคณะผู้แทนในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการป้องกัน และปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมาย นอกจากนั้นยังมีการชี้แจงภาพรวมของสถานการณ์ดังกล่าวทั้งในระดับจังหวัด ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน การแสดงซากสัตว์ป่าของกลางจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นตัวอย่างในการสาธิต โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหลายองค์กรเข้าร่วมการอบรม อาทิ WWF, เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองบัญชาการกองทัพไทย ภายใต้แนวคิด การค้าสัตว์ป่ากฏหมายไม่ได้เป็นปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือเพียงประเทศไทย และบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แต่เป็นปัญหาสำคัญของโลก

นายเจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF กล่าวว่า ปัญหาการค้าสัตว์ป่าเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบต่องานอนุรักษ์อย่างยิ่ง WWF ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"เราจึงริเริ่มโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ในเขตสามเหลี่ยมทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายด้านสัตว์ป่า โดยการพัฒนาระเบียบ ข้อปฏิบัติ และเพิ่มศักยภาพของเจ้าพนักงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและ ปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย"

นายนุวรรต ลีลาพตะ ผุ้อำนวยการส่วนด่านตรวจสัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ซึ่งกำกับดูแลด่านตรวจสัตว์ป่า 47 แห่งทั่วประเทศ และเป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กล่าวถึงการอบรมในครั้งนี้โดยระบุว่า การฝึกอบรมความรู้ลักษณะนี้ นอกจากจะได้พัฒนาความรู้ทางด้านการบังคับใช้กฎหมายในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังมีโอกาสได้สร้างเครือข่ายเพิ่มเติม "ทางกรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฏหมาย ที่ต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจ กรมศุลกากร และหน่วยต่าง ๆ ซึ่งเดิมเราประสานงานกันตามความสัมพันธ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ที่อยู่เฉพาะจุด แต่พอมาอยู่บนเวทีเดียวกันแบบนี้ ทุกคนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเห็นอุปสรรคในการทำงาน อีกทั้งยังได้ทราบว่าปัญหาของการลักลอบค้าสัตว์ป่า ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาของกรมอุทยานหรือปัญหาเฉพาะในประเทศ แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก และเราในฐานะประเทศภาคีสมาชิกไซเตส เราจึงจำเป็นต้องดำเนินงานไปตามอนุสัญญาไซเตส"

อนึ่ง อนุสัญญาไซเตส คืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีภาคีทั้งสิ้น 183 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นภาคีลำดับที่ 80 โดยในการอบรมครั้งนี้ยังได้ตัวแทนจาก TRAFFIC มาให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัญญาดังกล่าวอีกด้วย

เจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติ

นางกัญณภัทร พีพงศ์ นักวิชาการศุลกากรสำนักงานศุลกากร ภาคที่ 3 หนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรม และเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เล่าถึงการทำงานของกรมศุลกากร ว่ากรมศุลกากรมีหน้าที่ปกป้องคนในสังคมให้ปลอดภัย ด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร โดยความรู้จากการอบรมครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อป็นแนวทางในการปฏิบัติงานการป้องกัน และปราบปรามการค้าสัตว์ป่าได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ทางด้านนายชวนากร พรมรังฤทธิ์ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าแม่สาย กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กล่าวหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมอบรมวิทยากรผู้นำ (Training of Trainers) ซึ่งเป็นการอบรมวิทยากรผู้มีศักยภาพในการเป็นวิทยากรจากหน่วยงานในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื้อให้ผู้เข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับการอบรมในครั้งนี้ทีผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำประสบการณ์ในการทำงานมาแบ่งปันและเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานต่อไป

นอกจากกรมอุทยาน และกรมศุลกากรแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเป็นอีกหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายโดย พ.ต.ท.พากษกรณ์ เจนใจ สารวัตร กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกจากจะร่วมมือกับกรมอุทยานฯ และกรมศุลกากรแล้ว ยังได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่นฝ่ายปกครองและภาคประชาชนในการตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมาย" โดยพ.ต.ท. พากษกรณ์ได้เข้าร่วมการอบรมดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 และมองว่าการอบรมในครั้งนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อร่วมประสานงานกับเครือข่าย ในการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ในเขตสามเหลี่ยมทองคำจะยังมีการดำเนินโครงการต่อไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับศักยภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการด้านการอนุรักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม