ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข อพวช. มีภารกิจหลักในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม จึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน และเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมแก้ปัญหาที่สำคัญนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีทั้งคุณและโทษ พลาสติกก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า พลาสติกเป็นนวัตกรรมที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกด้าน ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่พลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นขยะเมื่อหมดอายุการใช้งาน ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นถุงพลาสติกถึง 1.5 ล้านตัน และเป็นภาชนะพลาสติก กล่อง ขวด ฝา และอื่น ๆ อีก 5 แสนตัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 2 ในการนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในอาเซียน
อพวช. จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ UNESCO ในโครงการ Plastic Initiative ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการใช้และการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในการใช้เท่าที่จำเป็น การจัดการที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (Waste to Value) การสร้างความมั่งคั่งจากขยะ (Waste to Wealth) ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เช่น Bioplastic ซึ่งล้วนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ Zero Waste, และ BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) โดยรัฐบาลกำหนดเป็น Roadmap ตั้งเป้าหมายให้สามารถนำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570
Dr. Benno Boer (Chief of Natural Sciences of UNESCO Bangkok office) ผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการ The Plastic Initiative นี้ ริเริ่มโดยองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการจัดการกับมลพิษพลาสติกอย่างครบวงจร อาทิ การระดมเยาวชน การปรับปรุงการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ยั่งยืนโดยร่วมมือกับรัฐบาลเอกชน ภาคและหน่วยงานสหประชาชาติ ทั้งนี้ ยูเนสโก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและร่วมรณรงค์ ตลอดจนการลงปฎิบัติเพื่อลดปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต