คุณเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT กล่าวว่า " ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 มีมติเอกฉันท์ ให้บริษัทฯ จ่ายปันผลเป็นหุ้นและเงินสด จากกำไรสะสมในอัตราในอัตราหุ้นละ 0.055 บาท โดยจ่ายเป็นหุ้นปันผลอัตราการจัดสรร 10 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญปันผล โดยเศษของหุ้นให้จ่ายเป็นเงินสดหุ้นละ 0.05 บาท และจ่ายเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.005 บาท และอนุมัติเพิ่มทุน จำนวน 29,899,720 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 298,999,981 บาท เป็นทุนจดทะเบียน จำนวน 328,899,701 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 59,799,440 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทเพื่อรองรับการจ่ายปันผลและปรับสิทธิวอแรนท์จากการจ่ายหุ้นปันผล โดยล่าสุดบริษัทฯได้ปรับอัตราการใช้สิทธิวอแรนท์ PORT-W1 จากราคาใช้สิทธิเดิม 6.50 บาท เป็น 5.9091 บาท และ ปรับอัตราการใช้สิทธิจากเดิม 1:1 หน่วย/หุ้น เป็น 1: 1.09999 หน่วย/หุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการขายคลังสินค้าปลอดภาษี ให้กับ บมจ.สหไทยสตีลไพพ์ ซึ่งเป็นบุคคลเกี่ยวโยงกัน โดยได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่ารายการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ด้านกระแสเงินสดที่จะนำมาใช้หมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการ การนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในส่วนอื่นๆ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงด้านการจัดหาผู้เช่า"
คุณเสาวคุณ กล่าวว่า "คณะกรรมการบริษัทฯ ขอขอบคุณที่ผู้ถือหุ้นในการสนับสนุนแนวทางการขยายธุรกิจของบริษัท อย่างดีเสมอมา รวมถึงแผนงานที่บริษัทฯจะย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ในปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย ลดข้อจำกัดในการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะช่วยให้การซื้อขายหุ้นของบริษัทฯมีเสถียรภาพมากขึ้น สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 782.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.92% จากรายได้รวม 753.23 ล้าน บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 56.72 ล้านบาท ลดลง 7.87 % จากกำไรสุทธิ 61.57 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน"
บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT เป็นผู้ให้บริการท่าเรือเอกชนครบ วงจรรายใหญ่ของประเทศไทยโดยให้บริการตั้งแต่ 1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจรสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงการให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) 2.ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง 3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้าโดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์ และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติและปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯให้บริการแก่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกกลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม 4.ธุรกิจการให้บริการ เกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น
บริษัทฯ มีแผนจะขยายธุรกิจท่าเรือและโลจิสติกส์แบบครบวงจรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจของบริษัทโดยการลงทุนสร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 3 ผ่านการลงทุนในบริษัท บางกอกริเวอร์ เทอร์มินอล จำกัด (BRT) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 18 เดือน ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการให้บริการท่าเรือได้อีกประมาณ 180,000 TEUs/ปี รวมกับความสามารถในการให้บริการเดิมของบริษัทฯและบริษัทย่อย เป็น 920,000 TEUs/ปี หรือเพิ่มขึ้นราว 24%และขยายศูนย์กระจายสินค้าต่อยอดธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการ โลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยลงทุนใน บริษัท บางกอก โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด (BLP)เพื่อพัฒนา และบริหารโครงการ โลจิสติกส์พาร์ค หรือศูนย์กระจายสินค้าบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ในเขตพื้นที่ขอบเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ไม่เพียงเท่านี้เรายังมีการนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ในการบริการ รับกับเทรนด์ธุรกิจยุคดิจิทัล โดยสามารถชำระค่าผ่านท่าและค่ายกตู้สินค้าผ่านระบบ QR Codeกับสหไทย เทอร์มินอล เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการใช้บริการที่ท่าเรือสหไทย