นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้าน กลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายสร้างจุดแข็งและความแตกต่างในธุรกิจบริษัทที่ปรึกษา ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล สามารถนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดใหม่ที่ใช้ในระดับสากล มาใช้ยกระดับธุรกิจของลูกค้าให้สามารถแข่งขันในโลกดิจิทัลได้ โดยการมีองค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง และมีความเข้าใจที่เหนือกว่าสู่บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการภายในปี 2020 ด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็น Deep Technology หรือบริษัทสตาร์ทอัพที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความลึกซึ้ง ซับซ้อนมาใช้ รวมทั้งเป็นสตาร์อัพที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัทได้แตกไลน์ธุรกิจมาเป็นสตาร์ทอัพ ในนาม "บลู พาร์คกิ้ง" เพื่อเปิดตัวนวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การจอดรถของลูกค้าไปอย่างสิ้นเชิงด้วยจุดเด่นดังต่อไปนี้
1. การใช้ระบบ ALPR (Auto license plate recognition) ที่สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถที่เข้าออกที่จอดรถได้อย่างแม่นยำ และเชื่อมต่อกับไม้กั้นที่เปิดปิดแบบอัตโนมัติ ทำให้การจัดการสมาชิกผู้ใช้งานประจำเป็นไปอย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้บัตรในการผ่านเข้าออกอีกต่อไป
2. เจ้าของธุรกิจ สามารถควบคุมจัดการฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของการให้บริการที่จอดรถได้ ไม่ว่าจะเป็น เวลาเปิดปิด การจัดการทะเบียนสมาชิก โดยควบคุมการทำงานแบบเรียลไทม์ (Real Time)
3. ฟีเจอร์ (Feature) จองที่จอดรถล่วงหน้าก่อนเข้าใช้บริการ ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน โดยไม่ต้องกังวลกับการวนหาที่จอดรถอีกต่อไป
4. บริการ API Service เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถเชื่อมต่อระบบการจองที่จอดรถเข้ากับแพลตฟอร์มของแบรนด์ เช่น Mobile App หรือ LINE Business Connect เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าออนไลน์ได้มากขึ้น
5. รองรับการชำระค่าบริการแบบไร้เงินสด เช่น QR Code บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต โดยไม่ต้องกังวลกับการเตรียมเงินสดเพื่อชำระค่าจอดรถ ตอบรับในยุคสังคมไร้เงินสด
6. ระบบ E-Coupon ให้ส่วนลดที่จอดรถสำหรับผู้ที่มาติดต่อบริษัทต่าง ๆ ในอาคารสำนักงาน สามารถทำงานได้เหมือนระบบ E-Stamp ทุกประการ ประหยัดโดยที่ไม่ต้องลงทุนกับเครื่อง Hardware 30 กว่าจุดในตัวอาคาร
7. สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้บริการของลูกค้าที่ถูกจัดเก็บไว้บน Cloud เพื่อนำไปวิเคราะห์หารูปแบบพฤติกรรมการเข้ามาใช้บริการต่าง ๆ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ เช่น การกำหนดราคาค่าที่จอดแบบ Dynamic Pricing ตามความหนาแน่นของการใช้งาน เพื่อเพิ่มรายได้ค่าบริการจอดรถ หรือการนำเสนอโปรโมชั่น ให้แก่ผู้ใช้งาน ทันทีที่นำรถเข้าใช้บริการ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บลู พาร์คกิ้ง ได้เปิดให้บริการระบบบริหารที่จอดรถ และระบบจองที่จอดรถของอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าชั้นนำในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจำนวนกว่า 10 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 แห่งภายในปี 2020 โดยมีเป้าหมายขยายไปในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม โรงพยาบาล ลานจอดรถใกล้สถานีรถไฟฟ้า เนื่องจากการจอดรถนับเป็นหนึ่งทัชพอยท์ที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับธุรกิจศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม โดยช่วยอำนวยความสะดวก ความรวดเร็วให้กับลูกค้า ลูกบ้าน หรือพนักงานออฟฟิศบวกกับลด Manual Process ได้มากถึง 40% โดยสามารถให้พนักงานมาโฟกัสงานที่อื่นที่สำคัญกว่า ช่วยให้ประหยัดต้นทุนในการบริหารหรือจ้างพนักงาน สำหรับเจ้าของธุรกิจศูนย์การค้าที่กำลังหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง (High Spending) เป็นพิเศษ ซึ่งการเพิ่มฟีเจอร์ให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวสามารถจองที่จอดรถผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้ จะเป็นการยกระดับประสบการณ์การใช้บริการที่จอดของลูกค้า และยังส่งเสริมให้ธุรกิจได้ฐานลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลการเข้าใช้บริการของลูกค้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้สมบูรณ์มากขึ้น
"การนำองค์ความรู้มาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและอินโนเวชั่นที่ถูกจุด ส่งผลให้สามารถยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภคได้อย่างน่าประทับใจ ยิ่งในสมัยนี้หากธุรกิจใดสามารถปรับตัวได้เร็วหรือเป็นผู้ที่บุกเบิกการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าได้ก่อน มักจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นการพัฒนาธุรกิจหรือแบรนด์ด้วยการนำเทคโนโลยีและอินโนเวชั่นใหม่มาช่วยทำให้ก้าวสู่การเป็น Top of mind ของลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ" นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวเสริมว่า "จุดเริ่มต้นของ บลู พาร์คกิ้ง มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้า การแข่งขันในยุคที่เกือบทุก แบรนด์ให้ความสนใจในการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วยการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เพื่อค้นหาอินไซท์ (Insight) ของลูกค้า ไปต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลจึงกลายเป็นทรัพย์สินสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจหลากหลายรูปแบบผนวกกับการมองเห็นว่าที่จอดรถคือ ทัชพอยท์ที่สำคัญในการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ"
อย่างไรก็ดี จากสถิติพบว่ากว่า 70% ของผู้บริโภคยินดีที่จะกลับมาใช้บริการสถานที่ที่มีที่จอดรถที่สะดวกสบายและเพียงพอ และ 55% จะไม่กลับมาใช้บริการอีก หากได้รับประสบการณ์การจอดรถที่ไม่ดีพอ ตอกย้ำให้เห็นว่าที่จอดรถ กลายเป็นทัชพอยท์สำคัญในการกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีการนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลการจอดรถของลูกค้า เช่น การใช้ ALPR เพื่ออ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ที่เข้าออก บันทึกข้อมูลการเข้าออกของลูกค้าบนระบบคลาวด์ (Cloud) และให้ลูกค้าจองที่จอดรถล่วงหน้าผ่าน แอพพลิเคชันบนมือถือ ทั้งสองฟีเจอร์ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าและยังเป็นการยกระดับประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าอีกด้วย