"ผมกลับมาเขียนแล้วนะ ขอบคุณทุกคนที่ยังคิดถึงกัน หนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อจะบอกว่า ไม่ว่าเราจะผ่านและเจออะไรมา ขอแค่อย่าลืมที่จะเก็บมันไว้ และเมื่อวันนั้นมาถึง เหมือนวันนี้ทีมาถึงแล้ว ก็ขอให้เวลาเล่าเรื่องที่ดีเท่านั้นก็พอ เป็นหนังสือที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหลานทั้ง 2 และคุณปู่ ชุมพล จินดาโชติ และช่วงวัยที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว จากคำถามที่มากมาย สู่การเข้าใจที่มากขึ้น โดยให้เรื่องของเวลาได้ทำงานตามหน้าที่ของเขาอย่างจริงใจ รายได้ส่วนหนึ่งขอหนังสือเล่มนี้ขอมอบให้กับ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดหนองพังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี หวังว่าจะมีสุขที่ได้อ่านเพราะผมมียังคงสุขที่ได้เขียน ใครมีหนังสือเล่มนี้ฝาก #jindabook ด้วยนะ เจอกันวันเปิดตัวครับ"
บางส่วนจากหนังสือ 'ให้กาลเวลาเล่าเรื่องที่ดี' โดย ฌอห์ณ จินดาโชติ
ผมมีหลานสองคน คนแรกชื่อ 'เวลา' เป็นหลานสาว อีกคนชื่อ 'ที่ดี' เป็นหลานชาย เมื่อไม่นานมานี้ ผมกับเวลาและที่ดีไปปั่นจักรยานเล่นกันในหมู่บ้าน ผมสังเกตว่าขณะที่ผมและเวลากำลังปั่นจักรยานอย่างสนุกสนาน ที่ดีที่ยังปั่นจักรยานไม่เป็น แต่สนุกกับการเล่นสกูตเตอร์สองล้อแบบไถ ซึ่งมักจะชอบเล่นแล้วหยุด ปล่อยให้ผมและเวลาปั่นจักรยานนำหน้าไปทุกครั้ง ด้วยความเป็นห่วงผมก็หันไปถามที่ดีว่า ถ้าที่ดีเล่นๆ หยุดๆ แบบนี้เมื่อไหร่จะถึง ผมหมายถึงจุดหมายที่เราสมมติกันขึ้นมา ที่ดีตอบผมว่า "รอเข่งก่อน เดี๋ยวเข่งตามไม่ทัน เดี๋ยวเข่งเหนื่อย" เข่งที่ที่ดีพูดถึงคือพี่เลี้ยงของเขา พอได้ยินอย่างนี้ผมก็รู้สึกสะท้อนใจในขณะที่ผมกำลังสนุกกับการปั่นจักรยานไปข้างหน้า ที่ดีกลับคิดถึงคนที่อยู่ข้างหลัง "ไม่ได้ไม่ทิ้งเข่ง" ที่ดีตะโกนบอกคำพูดของที่ดีทำให้ผมได้ฉุกคิดสองเรื่อง เรื่องแรกคือตกใจที่เด็กวัยสามขวบคิดได้ขนาดนี้ เรื่องที่สองคือที่ดีกำลังบอกผมว่าไม่ใช่วันหนึ่งเราทำสิ่งใดได้ดีแล้วจะลืมคนที่อยู่ข้างหลัง ผมในฐานะน้าชายวัยสามสิบจึงหยุดจักรยานรอที่ดีแล้วคิดในใจว่าบางทีเราอาจจะโตเกินไปจนหลงลืมสิ่งธรรมดาสามัญบางอย่าง