ด้วยพันธกิจพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานสำหรับการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินสู่ระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นต่อสมาชิก และผู้ใช้บริการในวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สมาคมจึงมีความประสงค์ในการผลักดันให้เกิดกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งบทสรุปจากการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22 นี้ จะนำไปสู่การผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ในฐานะประธานสมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า สมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียน The ASEAN Valuers Association (AVA) ก่อตั้งในปี 2524 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศในอาเซียน ลาว และพม่า มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ AVA ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านการประเมินค่าทรัพย์สินของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับสมาคมผู้ประเมินค่าในภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสมาคมในทวีปยุโรป ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนามาตรฐานให้กับประเทศสมาชิก
"ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงใช้โอกาสนี้เสนอต่อ AVA เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22 ขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา และนายกิตติยังได้รับเกียรติ ให้เป็นประธานสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนในระหว่างปี 2562-2563 นี้อีกด้วย" นายกิตติกล่าว
สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญต่อการผลักดันให้ไทยได้ยกระดับวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินและไม่มีหน่วยงานตามกฎหมายที่จะกำกับดูแลมาตราฐานการประเมินราคา ประเทศไทยจึงได้เกิดปัญหาจากการประเมินราคาอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทางสมาคมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาร่วมประชุม เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการมีกฎหมายควบคุมมาตรฐาน และพัฒนาการด้านต่างๆ ของการประเมินราคาทรัพย์สินในแต่ละประเทศสมาชิก AVA
นายกิตติ กล่าวว่า วิชาชีพการประเมินราคามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าการประเมินขาดมาตรฐานที่ดี หรือมีปัญหาด้านจริยธรรม มีการประเมินราคาที่สูงเกินไป หรือต่ำเกินไปโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ก็จะเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2540 ได้มีการประเมินราคาหลักประกันที่สูงเกินจริง จนทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย และเกิดเป็นปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ครั้งใหญ่
"กรณีล่าสุด คือ การประเมินราคาหลักประกันที่อยู่อาศัยที่สูงเกินจริง หรือที่เรียกกันว่า สินเชื่อเงินทอน จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกแนวนโยบายในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ภาวะชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูแล เหมือนวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ สถาปนิก หรือวิศกร จึงควรที่จะต้องเร่งผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว" นายกิตติกล่าว