นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของโรงเรียนและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการฯ 777 แห่ง และโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต มีโรงเรียนในความดูแล 79 แห่ง โดยทั้งสองโครงการมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดภาวะทุพโภชนาการในเด็ก
สพฐ. โดยสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ได้คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ระดับดีเด่น ประจำปี 2562 จำนวน 85 แห่ง และระดับดี 40 แห่ง โดยในปีนี้มีโรงเรียนที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนผ่านการคัดเลือก 13 โรงเรียน สะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงาน 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการ การบูรณาการจัดการเรียนรู้ การดำเนินงานอาหารกลางวัน การมีส่วนร่วม ผลผลิตหรือผลลัพธ์จากการดำเนินงาน
นางศิริรัตน์ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางปิดล่าง (ราษฎร์สงเคราะห์) ประธานศูนย์ปัญจวิทยาคาร ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โรงเรียนในโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต กล่าวว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ทำให้โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ระดับดีเด่น ประจำปี 2562 มาจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ นักเรียนเป็นทีมงานผลิตในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักสวนครัว การทำปุ๋ยจากมูลไส้เดือน เป็นต้น โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถนำผลผลิตจากโครงการฯมาจัดทำอาหารกลางวันนักเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่อาชีพอีกด้วย
นางสุจิตรา ยาวิไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รร.ในโครงการเลี้ยงไก่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นรร.ต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ระดับดีเด่น กล่าวว่า โรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องของภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน เพราะพบว่าเด็กบางส่วนยังมีปัญหาผอมและเตี้ย จึงนำระบบ Thai School Lunch (การจัดเมนูอาหารกลางวันด้วยระบบอัตโนมัติ) มาใช้ในการจัดเมนูอาหารกลางวันของนักเรียน จัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่นักเรียนสามารถเรียนรู้และนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น การเข้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ทำให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด นำมาประกอบอาหารมื้อกลางวันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน นอกจากนี้ นักเรียนที่สนใจเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ ทางโรงเรียนก็จะให้แม่ไก่ที่ปลดระวางแล้วไปเลี้ยงเองที่บ้าน นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ส่งผลให้เติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาสมวัยตามเกณฑ์
ทั้งนี้ 13 โรงเรียนที่ผ่านการประเมินของสพฐ.เป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ประกอบด้วย ระดับดีเด่น 8 โรงเรียน คือ 1. รร. แม่วินสามัคคี จ.เชียงใหม่ 2.รร.บ้านสาหร่ายวิทยา จ.นครราชสีมา 3.รร.บ้านบ่อหลวง จ.น่าน 4. รร.บ้านไร่ป่าขาดวิทยา จ.มุกดาหาร 5.รร.บ้านโคกน้อย จ.สระแก้ว 6. รร.บ้านแปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี 7. รร.บ้านเอราวัณ จ.เลย และ 8. รร.วัดบางปิดล่าง(ราษฏร์สงเคราะห์) จ.ตราด
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ระดับดี 5 โรงเรียน คือ 1.รร.บ้านมาบนาดี จ.ฉะเชิงเทรา 2.รร.บ้านเก่าวิทยานุกูล จ.ชัยภูมิ 3. รร.บ้านบ่อหิน จ.สตูล 4. รร.เทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย จ.ตาก และ 5. รร.ตำรวจตระเวนชายแดนช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 8 จ.นครพนม