สภาวิศวกร (COE) ยกทัพ "วิศวกรอาสา 200 ชีวิต" ลงพื้นที่ตรวจสอบ-ประเมินความเสียหายเชิงโครงสร้าง 9-12 ตุลาคมนี้ อาทิ อาคารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล โครงสร้างที่อยู่อาศัย ระบบไฟฟ้า ฯลฯ ภายใต้โครงการ "วิศวกรอาสาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี" พร้อมเปิดตัว "คู่มือการสำรวจและซ่อมแซมบ้าน ฉบับผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเป็นแนวทางตรวจสอบความปลอดภัยก่อนกลับเข้าอยู่ในบ้านเรือน และแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยรวบรวมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสำรวจและซ่อมแซมบ้านหลังเกิดอุทกภัย อาทิ การสำรวจความมั่นคงแข็งแรง ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า การตรวจสอบส้วม ระบบประปา เครื่องปรับอากาศ เตาแก๊ส การทำความสะอาด และการซ่อมแซม โดยคู่มือดังกล่าวเตรียมมอบให้พี่น้องชาวอุบลฯ ระหว่างการลงพื้นที่ของวิศวกรอาสา ทั้งนี้ สภาวิศวกร ได้จัดพิธีปล่อยคาราวาน "วิศวกรอาสา 200 ชีวิต ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) กรุงเทพฯ
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด "คู่มือการสำรวจและซ่อมแซมบ้าน ฉบับผู้ประสบอุทกภัย" พร้อมติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือติดต่อสายด่วน 1303
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร (COE) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้เห็นภาพความเสียหายเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนและเสี่ยงต่อการพังทลาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน สภาวิศวกร
ในฐานะสภาวิชาชีพด้านวิศวกรรมของประเทศ จึงได้ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ สมาคมวิชาชีพรวม 21 องค์กร จัดทีม "วิศวกรอาสา 200 ชีวิต" ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือฟื้นฟู และเร่งตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรมหลังน้ำลด อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล โครงสร้างที่อยู่อาศัย ระบบไฟฟ้า ระบบประปา สุขาภิบาล และอื่นๆที่เกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัย ภายใต้โครงการ "วิศวกรอาสาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี" โดยที่วิศวกรอาสาทั้งหมด จะผ่านการอบรม "เตรียมความพร้อมวิศวกรอาสา ปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี"
เพื่อดำเนินการให้ความรู้และสนับสนุนภาครัฐ ตลอดจนประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาชีพวิศวกรรม
โดยทีมวิศวกรอาสา เตรียมลงพื้นที่ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 13 อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2562 ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และ
อำเภอวารินชำราบ เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจำนวนมาก (ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, 5 ตุลาคม 2562) พร้อมประเมินความเสียหายเชิงโครงสร้างวิศวกรรม ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามหลักวิชาชีพวิศวกรรม ตลอดจนประมาณการความเสียหาย เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการเตรียมแผนจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือประชาชนเป็นลำดับต่อไป ซึ่งในวันสุดท้ายของการลงพื้นที่ จะเป็นการสรุปภาพรวมความเสียหายทั้งหมด พร้อมแผนการฟื้นฟูจังหวัดอุบลราชธานีให้สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
นอกจากนี้ สภาวิศวกร ยังได้ร่วมมือกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "คู่มือสำรวจซ่อมแซมบ้าน ฉบับชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนกลับเข้าอยู่ในบ้านเรือน โดยเป็นการรวบรวมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสำรวจและซ่อมแซมบ้านหลังเกิดอุทกภัยถึง ขั้นตอนการสำรวจ นับตั้งแต่การเตรียมการก่อนสำรวจภายใน-ภายนอกบ้าน อาทิ การสำรวจความมั่นคงแข็งแรง การสำรวจระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า การตรวจสอบส้วม ระบบประปา เครื่องปรับอากาศ เตาแก๊ส
รวมถึงการทำความสะอาดและการซ่อมแซม เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยคู่มือดังกล่าว จัดพิมพ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,000 เล่ม เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนชาวอุบลฯ ผู้ประสบอุทกภัยระหว่างการลงพื้นที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ได้จัดพิธีปล่อยคาราวาน "วิศวกรอาสา 200 ชีวิต ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อประเมินความเสียหายเชิงโครงสร้างวิศวกรรมในพื้นที่อุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด "คู่มือการสำรวจและซ่อมแซมบ้าน ฉบับผู้ประสบอุทกภัย" พร้อมติดตามข่าวสารและเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือติดต่อสายด่วน 1303