ดร. ธัชพล กาญจนกูล นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า "สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้จัดการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นองค์คณะในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ ให้คะแนน และ จัดลำดับผู้เข้าประกวดเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา และปีนี้มีรางวัลพิเศษสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เข้าร่วมการประกวดครั้งแรก ทั้งนี้ เพื่อเฟ้นหากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้นแบบ ที่บริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกสามารถเป็นที่พึ่งในช่วงหลังเกษียณของสมาชิกได้ ซึ่งในการจัดประกวดฯ ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองทุนการออมแห่งชาติ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน และ บลจ."
นางปะราลี สุคนธมาน รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือเพื่อการออมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องระยะยาว เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชนเอาไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ซึ่งในช่วงดังกล่าวอาจจะมีรายได้น้อยลงมากหรือไม่มีรายได้ แต่ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและการดูแลสุขภาพของตนเอง การจัดโครงการประกวดในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้กรรมการกองทุนและ บลจ. บริหารจัดการกองทุน เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อสมาชิกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้กองทุนพัฒนาตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีการลงทุน ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุน โดยหลักธรรมาภิบาลการลงทุน หรือ I Code จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการให้คะแนนกองทุนดีเด่นด้วย"
ทั้งนี้ ในการคัดเลือกผู้ชนะโครงการประกวดฯ จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาลการลงทุน มาตรฐานในการควบคุมและตรวจสอบการจัดการลงทุนเพื่อให้เงินกองทุนงอกเงย บทบาทของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ต่อการส่งเสริมกระบวนการให้ความรู้แก่สมาชิก และการพัฒนากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยครั้งนี้ยังคงนำเรื่องการประกาศรับปฏิบัติตาม I Code เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาตัดสินด้วย
กองทุนที่จะเข้าร่วมประกวดต้องเป็นกองทุนที่จดทะเบียนกับ ก.ล.ต. ไม่น้อยกว่า 3 ปี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือผู้อำนวยการสายงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยการจัดประกวดกองทุน
จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทกองทุนรัฐวิสาหกิจ (2) ประเภทกองทุนบริษัทเอกชน และ (3) ประเภทบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดย 2 ประเภทแรกเป็นการประกวดกองทุนเดี่ยว และประเภทที่ 3 เป็นการประกวดกองทุนร่วม (pooled fund)
สำหรับการพิจารณาคัดเลือก สมาคมฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาเอกสารการสมัคร โดยกองทุนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาในรอบนี้จะผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ ซึ่งคณะกรรมการจะนำคะแนนทั้งสองรอบมาประกอบ การพิจารณาตัดสินหาผู้ชนะเลิศ และผู้ได้รับรางวัลอื่น ๆ ต่อไป โดยจะประกาศผลและมอบรางวัลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมโซฟิเทล ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
ปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้นจำนวน 379 กองทุน มีลูกจ้างรวมกันเป็นจำนวน 3 ล้านกว่าคน นายจ้างรวม 19,008 ราย มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท กองทุนที่สนใจเข้าร่วมประกวดสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทาง www.aop.or.th ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562
หมายเหตุ : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินสมทบ"