นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟในฐานะบริษัทผลิตอาหารรองรับประชากรทั่วโลกมากกว่า 3.5 พันล้านคน ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาการขาดแคลนอาหารและปัญหาทุพโภชนาการ จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้บริโภคทั่วโลกเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการอย่างเพียงพอ ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่จะส่งมอบสู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกัน บริษัทฯให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการสูญเสียและของเสียจากการเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตอาหาร ส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงการส่งเสริมคู่ค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตและการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว
บริษัทฯเน้นการบริหารจัดการวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปริมาณการสูญเสียและของเสียจากการเหลือทิ้ง อาทิ นำขนไก่ไปบดทำเป็นอาหารสัตว์ เนื้อคอเป็ดนำไปทำเป็นลูกชิ้นเป็ด ส่วนต่างๆของกุ้งที่ไม่ได้ใช้ในการผลิต ขายให้ผู้ประกอบการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น คางกุ้งทำเป็นอาหารทานเล่น เปลือกกุ้งนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ หัวกุ้งส่งขายให้ญี่ปุ่นนำไปทำน้ำซุป เป็นต้น
"นอกจากให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องของ Food Loss และFood Waste และบริษัทฯยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของอาหารให้นานขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาจากการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค" นายวุฒิชัย กล่าว
เป้าหมายดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิตอาหาร สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ(SDGs) และเป้าหมายขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations - FAO) ซึ่งในวันอาหารโลก (World Food Day) 16 ตุลาคม ปีนี้ FAO เน้นย้ำเรื่องการบริโภคอาหารที่มีโภชนาการและดีต่อสุขภาพ
ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจโดยกำหนดกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ " โดยเสาหลักด้าน " อาหารมั่นคง" นั้น สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ในเรื่องการยุติความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอ ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ขณะที่การลดปริมาณการสูญเสีย (Food Loss) และลดของเสียจากการเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตอาหาร เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดขยะอาหารของโลก ลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)