รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า "ม.หอการค้าไทยรู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัดเป็นอย่างมากในการร่วมมือกันครั้งนี้ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำทางธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการของประเทศไทย เรามุ่งสร้างและผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทยแลนด์4.0 เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้นักศึกษาทุกๆคณะสู่การเป็นกำลังพลที่สำคัญในการสร้างสรรค์คุณภาพที่ดีให้กับเศรษฐกิจประเทศ ปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) จากกระแสการขยายตัวของสื่อดิจิทัล ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการทำงานให้กับนักศึกษา การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงร่วมมือทางวิชาการระหว่างสององค์กร เรายังได้สนับสนุนให้นักศึกษามีการดูงาน ฝึกงาน และสหกิจศึกษาเรียนรู้ปฎิบัติจริงพร้อมสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ๆที่สำคัญต่อระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจประเทศไทย ที่สำคัญมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เรื่อง วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางธุรกิจที่กำลังจะกลายเป็นกระแสระดับโลก เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยความเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สภาหอการค้าไทย เป็นผู้นำและสื่อกลางในการประสานกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา และวางรากฐานแนวคิดนี้ในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เข้าร่วมโครงการ MIT REAP (Regional Entrepreneurship Acceleration Program) โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT เพื่อศึกษาแนวทางกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยอาศัยความเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม"
คุณนิวัตน์ คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า "ทางบริษัท ทีเคเคฯ ในฐานะผู้ประกอบการภาคเอกชน เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการศึกษา เนื่องจากกำลังคนถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เจริญเติบโต แน่นอนว่าบุคลากรที่มีคุณภาพ ย่อมจะต้องจบจากสถานศึกษาที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน ทั้งนี้บริษัททีเคเคฯมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะร่วมมือกับภาคการศึกษาของไทย ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้มีการศึกษาดูงาน, การรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน หรือทางบริษัทฯ เองก็ยินดีที่จะส่งพนักงานเข้ามาศึกษาในหลักสูตรต่างๆ กับทางมหาวิทยาลัยในอนาคตอีกด้วย การผลิตนักศกาที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ย่อมเป็นผลดีกับทั้งสาบันการศึกษาและผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวนักศึกษาเอง"