นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กทม. มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยปลัดกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักงานเขต ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง แนะนำการดูแลสุขภาพอนามัย พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบโดยเพิ่มความถี่ การแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 08.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันท่วงที ในส่วนของโครงการก่อสร้างทุกประเภท ได้กำชับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ก่อสร้างเพื่
อลดปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สำนักอนามัยได้เตรียมความพร้อมป้องกันและระวังอันตรายจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข ลงพื้นที่ให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากอันตรายจากมลพิษทางอากาศ แจกหน้ากากอนามัย พร้อมสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ รวมถึงสำรวจจำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม เช่น พนักงานกวาด พนักงานเก็บขนมูลฝอย และพนักงานสวนสาธารณะ และความต้องการใช้หน้ากากอนามัย เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้วางมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันอันตรายจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5 โดยให้โรงเรียนงดจัดกิจกรรมกลางแจ้ง ฉีดพ่นละอองน้ำขนาดเล็กบนอาคารเรียน ทำความสะอาดอาคารสถานที่ จัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงจัดหาหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้นักเรียนใช้ปิดจมูกเพื่อป้องกันฝุ่นละ อองขนาดเล็ก สำหรับมาตรการระยะยาว ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองและดูแลรักษาสุขภาพจากปัญ หาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ
ภายในโรงเรียน
นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง ได้กำหนดมาตรการและกำชับให้ผู้รับจ้างฉีดพรมน้ำในพื้นที่ก่อสร้างทุกชั่วโมง กวาดล้างผิวจราจรและทางเท้าบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้างทุกวันในช่วงเวลากลางคืน ปกคลุมวัสดุก่อสร้างและรถขนดิน หิน ทรายเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น การจัดทำเส้นทางจักรยาน จัดให้มีจุดจอดจักรยาน และให้บริการจักรยานสาธารณะ ขณะเดียวกัน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการเดินทางอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่าในส่วนของสำนักการโยธา ได้ขอความร่วมมือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งเทศไทย ให้ตรวจสอบเครื่องจักรให้มีสภาพดีตลอดการใช้งานปรับสภาพผิวจราจรระหว่างการก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดีตลอดการก่อสร้าง ตลอดจนขอความร่วมมือปิดกั้นแผงผ้าใบ ปกคลุมกองวัสดุก่อสร้าง
เพื่อป้องกันอันตรายตลอดแนวโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง