นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบาย Workforce transformation ที่มุ่งปฏิรูปกำลังแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต รวมถึงต้องส่งเสริมความปลอดภัยต่อสาธารณะอีกด้วย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2557 ที่ได้ประกาศให้สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่ต้องดำเนินการโดยผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเท่านั้น เพื่อลดความเสียหายจากผู้ประกอบอาชีพที่ไม่มีความชำนาญ สังคมได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาดังกล่าว เข้ารับการประเมิน
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า หลักเกณฑ์ในการประเมิน 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย (1) 50 เปอร์เซ็นต์แรกจากความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ ทัศนคติในการทำงาน โดยใช้ผลผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 (2) ประสบการณ์การประกอบอาชีพ การศึกษา การฝึกอบรม/สัมมนา 25 เปอร์เซ็นต์ (3) คุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน โดยการสัมภาษณ์ อีก 25 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 121,858 คน สำหรับในปี 2563 วางเป้าหมายดำเนินการจำนวน 17,500 คน ผู้สนใจเข้ารับการประเมินติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 1703 และ www.dsd.go.th/oloc
"นอกจากสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารแล้ว ทางกพร. ยังได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนผลักดันให้สาขาช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก สาขาช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ สาขาช่างเชื่อมแม็ก สาขาช่างเชื่อมทิก ต้องมีใบอนุญาต (License) ในการทำงานเช่นกัน จึงเชิญชวนให้กำลังแรงงานในสาขาเหล่านี้เข้ารับการทดสอบฯ เพื่อเตรียบพร้อมรับ License และที่สำคัญยังได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมืออีกด้วย อาทิ ช่างเชื่อมทิก ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 615 บาท และระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 775 บาท" อธิบดีกพร. กล่าว