นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. เตรียมจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับสถาบันเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำ TOR เพื่อการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งหลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว จะเร่งจดทะเบียนบริษัทให้เร็วที่สุด ในส่วนของการจัดตั้งโรงงานจะเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาโรงงานผลิตยางของ กยท. ที่มีอยู่ทั้ง 6 แห่ง ให้มีศักยภาพในการดำเนินงานเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาโรงงานของ กยท. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015 ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่ กยท. ได้เปิดตลาดไว้ได้มากขึ้น และโรงงานของ กยท. ก็สามารถรองรับผลผลิตของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ในทุกชนิดยาง ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางสด ยางแผ่น และยางก้อนถ้วย โดย กยท. ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดในการซื้อขาย
นายสุนันท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ด้านนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1,711,252 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย) คิดเป็นพื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยให้มีการประกันรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563)
แบ่งตามประเภทยาง ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม โดยอ้างอิงจากราคากลางที่ประกาศทุก 2 เดือน และจ่ายเงินประกันรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการรอบแรก ในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง งบประมาณในโครงการรวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท